เรื่องต้องรู้ ของคุณผู้ชายวัยทอง

เรื่องต้องรู้ ของคุณผู้ชายวัยทอง

HIGHLIGHTS:

  • เมื่อผู้ชายอายุ 40 ปีขึ้นไป ฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรน (Testosterone) จะลดลง ซึ่งจะมีผลต่อระบบต่างๆ ในร่างกาย ทั้งการสร้างกล้ามเนื้อ ระบบเผาผลาญไขมัน  และความแข็งแรงของโครงสร้างกระดูก  รวมไปถึงระบบสืบพันธุ์ ทำให้เกิดวัยทองในผู้ชาย
  • ผู้ชายวัยทองมักมีอาการไม่ชัดเจนเท่าผู้หญิงวัยทอง อาการที่สังเกตได้คือ มีความต้องการทางเพศลดลง ความแข็งตัวของอวัยวะเพศลดลง รู้สึกไม่ค่อยมีแรง ความสนุกสนานในชีวิตลดลง บางครั้งรู้สึกเศร้า ความสามารถในการเล่นกีฬาลดลง  ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง
  • เน้นรับประทานอาหารที่ช่วยบำรุงฮอร์โมนเพศ เช่น ปลาแซลมอน พืชตระกูลถั่ว ผักใบเขียว ไข่แดง แตงโม หน่อไม้ฝรั่ง และหอยนางรม ซึ่งมีแร่ธาตุสังกะสีสูง จะช่วยชะลออาการวัยทองในผู้ชายได้ แต่ผู้มีภาวะคอเลสเตอรอลสูงควรรับประทานด้วยความระมัดระวัง

เรื่องต้องรู้ ของคุณ ผู้ชายวัยทอง

“วัยทอง” เคยเป็นผู้ต้องหาตัวฉกาจ เมื่อพบผู้หญิงมีอารมณ์เกรี้ยวกราด แปรปรวน หรือแม้กระทั่งอ่อนไหว น้ำตาร่วง ซึ่งในความเป็นจริง ภาวะวัยทองสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย

วัยทองในผู้ชายเกิดจาก  ระดับฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ลดลงตามวัยที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเทสโทสเตอโรน เป็นฮอร์โมนหลัก ช่วยกระตุ้นลักษณะความเป็นเพศชาย   มีบทบาทสำคัญในระบบการสืบพันธุ์ รวมถึงมีผลต่อระบบต่างๆ ในร่างกาย ทั้งการสร้างกล้ามเนื้อ  ระบบเผาผลาญไขมัน  และความแข็งแรงของโครงสร้างกระดูก  ดังนั้นเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนจะเริ่มลดลง ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายมากมาย และส่งผลไปถึงจิตใจด้วย  ซึ่งทางการแพทย์เรียก ผู้ชายวัยทอง ว่า “แอนโดรพอส” (Andropause)

10 วิธีสังเกตตัวเองของคุณผู้ชายว่าอยู่ช่วงวัยทองหรือไม่ 

  1. มีความต้องการทางเพศลดลง
  2. รู้สึกไม่ค่อยมีแรง
  3. ความแข็งแรงและอดทนลดลง
  4. ความสูงลดลง
  5. ความสนุกสนานในชีวิตลดลง
  6. รู้สึกเศร้าและไม่พอใจ
  7. ความแข็งตัวของอวัยวะเพศลดลง
  8. ความสามารถในการเล่นกีฬาลดลง
  9. รู้สึกง่วงนอนหลังรับประทานอาหารเย็น
  10. ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง

ถ้าตอบใช่ในคำถามข้อ 1 หรือ ข้อ 7  หรือ ตอบใช่ ในคำถามข้ออื่นๆ 3 ข้อ แสดงว่าอาจจะมีภาวะการลดลงของฮอร์โมนเพศชาย  ควรปรึกษาแพทย์

ข้อเท็จจริงของ ผู้ชายวัยทอง

  • เมื่ออายุมากขึ้น ผู้ชายทุกคนจะมีฮอร์โมนเพศชาย หรือเทสทอสสเตอโรนลดลงเรื่อยๆ แต่จะไม่มีวันเหลือเป็นศูนย์เหมือนผู้หญิงวัยทอง
  • ผู้ชายวัยทอง มักมีอาการไม่ชัดเจนเท่าผู้หญิงวัยทอง ซึ่งพบมากถึง 75% โดยครึ่งหนึ่งของวัยทองที่มีอาการนั้นจะเป็นมากถึงขั้นต้องพบแพทย์
  • การวินิจฉัยวัยทองในเพศชาย ทำได้ยากกว่าในเพศหญิง เนื่องจากผู้หญิงวัยทองมักมีอาการร้อนวูบวาบ หงุดหงิด รวมถึงนอนไม่หลับให้เห็นอย่างชัดเจน ในช่วงหมดประจำเดือน หรือใกล้หมดประจำเดือน
  • ไม่สามารถวัดค่าฮอร์โมนเพศชายที่ลดลงได้อย่างแน่ชัดว่าเป็นช่วงวัยทองหรือไม่ ต่างจากเพศหญิงที่ทำได้ด้วยการเจาะเลือดตรวจ และวินิจฉัยได้อย่างแม่นยำกว่า
  • การรักษาวัยทองในเพศชายด้วยการใช้ฮอร์โมนเพศชายบำบัด มักได้ผลไม่ดีเท่าในเพศหญิง

รับมือวัยทองในผู้ชายอย่างถูกวิธี

  • อาหาร ควรเลี่ยงอาหารไขมันสูงและมีรสหวานจัด โดยเน้นรับประทานอาหารที่ช่วยบำรุงฮอร์โมนเพศ เช่น ปลาแซลมอน พืชตระกูลถั่ว ผักใบเขียว ไข่แดง แตงโมง หน่อไม้ฝรั่ง และหอยนางรม ซึ่งมีแร่ธาตุสังกะสีสูง แต่ผู้มีภาวะคอเลสเตอรอลสูงควรระวังในการรับประทาน
  • ออกกำลังกาย อย่างน้อยครั้งละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 ครั้ง เน้นการเสริมสร้างกล้ามเนื้อมัดใหญ่ และความแข็งแรงของหัวใจเช่น วิ่ง ปั่นจักรยาน และเวทเทรนนิ่ง
  • อารมณ์ ทำความเข้าใจกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย คิดบวก และจัดการกับอารมณ์หงุดหงิด รวมถึงไม่เก็บตัว พบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูง ทำจิตใจให้แจ่มใส ทำกิจกรรรมนอกบ้านต่างๆ ให้มากขึ้น เพื่อลดภาวะเครียดเมื่อต้องอยู่คนเดียว
คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?