บาดเจ็บจากกีฬา รักษาให้ตรงจุด

บาดเจ็บจากกีฬา รักษาให้ตรงจุด

HIGHLIGHTS


•    หากการบาดเจ็บเกิดซ้ำๆ ต่อเนื่อง จนรบกวนชีวิตประจำวัน ควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง
•    เมื่อบาดเจ็บ ควรหลีกเลี่ยงการใช้กล้ามเนื้อหรือข้อต่อบริเวณที่เจ็บ เพื่อป้องกันการบาดเจ็บซ้ำๆ
•    ปัจจุบันมีการผ่าตัดแบบส่องกล้อง ซึ่งช่วยให้ฟื้นตัวได้เร็วกว่าการรักษาผ่าตัดแบบเปิด

 

    การบาดเจ็บจากการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และเกิดได้กับอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย อาการบาดเจ็บมีตั้งแต่บาดเจ็บเล็กน้อย ซึ่งร่างกายสามารถซ่อมแซมตัวเองได้ ไปถึงขั้นบาดเจ็บรุนแรง รวมถึงการบาดเจ็บซ้ำๆ แม้ไม่รุนแรง แต่เกิดอย่างต่อเนื่อง เนื้อเยื่อเดิมๆ ถูกกระทำจนกลายเป็นบาดเจ็บเรื้อรังในที่สุด


เล่นอย่างไร ไม่ให้เจ็บ

•    ผู้เล่นหรือนักกีฬาต้องทราบความสามารถของตัวเอง ควรหยุดพักเมื่อรู้สึกเหนื่อยล้า หรือเริ่มมีอาการเจ็บตามข้อต่อหรือกล้ามเนื้อต่างๆ
•    ไม่ควรฝืนหรือลงแรงกระแทกซ้ำๆ บริเวณข้อต่อหรือกล้ามเนื้อที่บาดเจ็บอยู่ก่อน
•    ไม่ลืมที่จะอบอุ่นร่างกายทุกครั้งก่อนและหลังออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา
หากเกิดการบาดเจ็บ ต้องการปฐมพยาบาลอย่างไร
โดยทั่วไปจะกระทำภายใน 24 – 48 ชั่วโมง โดยใช้หลัก “RICE”
•    R = Rest พัก ส่วนที่ได้รับบาดเจ็บ
•    I = Ice ประคบด้วยความเย็น บริเวณที่บาดเจ็บ ครั้งละ 15-20 นาที วันละ 2 – 3 ครั้ง
•    C = Compression พันกระชับบริเวณที่บาดเจ็บด้วยม้วนผ้ายืด
•    E = Elevation ยกส่วนที่บาดเจ็บให้สูง เพื่อช่วยลดอาการบวม
หากบาดเจ็บไม่รุนแรงควรหายภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่ถ้าอาการบาดเจ็บนั้นไม่หายในเวลาที่เหมาะสม ปวดบวมมากขึ้น มีอาการผิดรูป หรือมีการฉีกขาดอย่างชัดเจน ต้องรีบพบแพทย์ทันที

เจ็บแค่ไหนต้องรีบรักษา

หากเกิดอาการบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย ร่างกายมักซ่อมแซมตัวเองได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่หากการบาดเจ็บนั้นเกิดซ้ำๆ ในบริเวณเดิมๆ จนมีอาการเจ็บอย่างต่อเนื่อง หรือเกิดจากอุบัติเหตุรุนแรงจนร่างกายซ่อมแซมตัวเองไม่ได้ ความสามารถในการออกกำลังกายลดลง เล่นกีฬาได้ไม่เต็มที่ หรือรุนแรงจนไม่สามารถทำกิจกรรมต่างๆ และรบกวนการชีวิตประจำวัน ควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย และรับการรักษาอย่างถูกต้อง

การรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัด

•    หยุดพัก หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องใช้ข้อต่อหรือกล้ามเนื้อบริเวณที่บาดเจ็บ นอกจากช่วยลดอาการเจ็บปวดแล้ว ยังสามารถช่วยลดการบาดเจ็บซ้ำๆ ได้ด้วย
•    การใช้ยา เพื่อลดอาการปวดหรืออักเสบ
•    กายภาพบำบัด โดยใช้เครื่องมือช่วยลดอาการปวด เช่น ความร้อน ความเย็น คลื่นเสียง การประคบ และการทำกายภาพด้วยการยืดหรือการดัด เพื่อช่วยลดภาวะข้อติด
•    การฝังเข็ม เป็นการคลายจุดเจ็บในกล้ามเนื้อ ซึ่งจะปักเข็มลงไปตามจุดเพื่อกระตุ้นการไหลเวียน ลดอาการปวด
•    Shock wave therapy (SWT) การรักษาด้วยการใช้คลื่นกระแทกที่มีขนาดและความลึกที่เหมาะสม เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายซ่อมแซมส่วนที่บาดเจ็บ
•    การฉีดสารกระตุ้นทางธรรมชาติ เช่น เกล็ดเลือดแบบเข้มข้น (Platelet rich plasma-PRP) ช่วยกระตุ้นการซ่อมแซมเนื้อเยื่อต่างๆ ที่ได้รับการบาดเจ็บ
•    การใช้กายอุปกรณ์ เพื่อช่วยป้องกันแรงที่จะมากระทำต่อเนื้อเยื่อนั้นๆ เช่น การใส่สนับเข่า การใส่สนับไหล่ หรือสนับศอก
•    Hyperbaric Oxygen (HBO) Therapy เป็นการรักษาด้วยออกซิเจนความกดบรรยากาศสูง ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายฟื้นฟูได้เร็วและมีประสิทธิภาพ เหมาะกับนักกีฬาที่ทำการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง

ข้อดีของการผ่าตัดแบบส่องกล้อง

•    ปัจจุบันการผ่าตัดผ่านกล้องได้พัฒนาจนสามารถผ่าตัดได้ทุกข้อต่อ ไม่ว่าจะเป็นข้อเข่า ข้อไหล่ ข้อสะโพก ข้อมือ ข้อศอก และข้อเท้า รมถึงการผ่าตัดผ่านกล้องบริเวณนอกข้อ เช่น เส้นเอ็น หรือถุงน้ำตามข้อต่อต่างๆ ได้ด้วย
•    แผลมีขนาดเล็ก การบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อมีน้อย ฟื้นตัวได้เร็ว
•    สามารถใช้กล้องขยายเนื้อเยื่อโดยตรง ทำให้ศัลยแพทย์เห็นภาพข้อต่อที่บาดเจ็บได้อย่างละเอียด แม้แต่อวัยวะในช่องแคบๆ เช่น ด้านข้างของข้อเข่า ข้อไหล่ และข้อศอก

 

การฟื้นฟูร่างกายหลังผ่าตัดด้วยการส่องกล้อง

•    ระยะแรก อาจใส่ตัวดามหรืออุปกรณ์ช่วยพยุง เพื่อลดการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อที่ได้รับการผ่าตัด

•    ระยะฟื้นฟูสมรรถภาพของข้อต่างๆ เช่น การฝึกกล้ามเนื้อรอบๆ ข้อ ซึ่งต้องทำภายใต้การดูแลของทีมศัลยแพทย์และแพทย์กายภาพบำบัด เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่เหมาะสม

•    การฟื้นฟูเพื่อกลับไปสู่การเล่นกีฬาอีกครั้ง โดยแพทย์จะพิจารณาดูว่าเนื้อเยื่อต่างๆ ที่ได้รับการผ่าตัดนั้น มีความแข็งแรงและมีการเคลื่อนไหวที่เหมาะสม รวมถึงกล้ามเนื้อรอบๆ มีขนาดและความแข็งแรงที่เพียงพอ สามารถทรงตัว และขยับร่างกายได้อย่างปกติ สามารถกลับไปทำกิจวัตรประจำวันและพร้อมกลับไปสู่การเล่นกีฬาได้

หลายคนคิดว่าการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาเป็นเรื่องปกติ ที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา จึงมักละเลยไม่ยอมพบแพทย์ บางครั้งการบาดเจ็บนั้นอาจหายเองได้ แต่หลายครั้งก็เป็นผลให้การบาดเจ็บเล็กน้อยกลายเป็นเรื่องใหญ่โตถึงขั้นต้องผ่าตัด หรือจากการผ่าตัดแบบง่ายต้องกลายเป็นการผ่าตัดที่ยุ่งยากและซับซ้อนมากขึ้น ดังนั้นการยอมรับอาการบาดเจ็บของตัวเองเป็นสิ่งสำคัญเพื่อการรักษาที่ถูกต้อง และสามารถกลับมาทำกิจกรรมหรือเล่นกีฬาที่ชื่นชอบได้อีกนานๆ

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?