นั่งนานเกินไป

นั่งนานเกินไป

HIGHLIGHTS:

  • การนั่งนานเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งปอดและมะเร็งของเยื่อบุโพรงมดลูก!!!
  • คนที่อายุมากกว่า 25 ปี ที่นั่งนานหน้าจอโทรทัศน์นานๆ โดยทุกชั่วโมงที่นั่งนาน

นั่งนานเกินไป อันตรายต่อสุขภาพ

ข่าวเล็ก ๆ อันหนึ่งเมื่อเดือน พย. 2558 คือ การเสียชีวิตของนักรักบี้อายุ 40 ปีทีมชาตินิวซีแลนด์และทีมออลแบล็ก ที่มีสุขภาพแข็งแรงหลังจากนั่งเครื่องบินกลับจากอังกฤษมานิวซีแลนด์ โดยแพทย์ประจำทีมกล่าวว่าสาเหตุเกิดจากการมีลิ่มเลือดไปอุดเส้นเลือดปอด โดยต้นเหตุส่วนหนึ่งคือ การนั่งเครื่องบินนาน และหลาย ๆ ท่านก็คงได้อ่านเรื่อง โรคจากการนั่งนานในเครื่องบิน (economy class syndrome) ซึ่งความเป็นจริงสามารถเกิดได้จากทุกระดับราคาของการบินหากท่านนั่งนาน ไม่ขยับและดื่มน้ำไม่เพียงพอ ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2550 องค์การอนามัยโลก ได้ศึกษาและรายงานสนับสนุนว่า กลุ่มอาการนี้เกิดจากการไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายเป็นระยะเวลานาน ที่เกิดขึ้นได้จากทั้งการเดินทางโดย เครื่องบิน รถไฟ หรือ รถยนต์ ทั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับ ความกดดันอากาศ หรือ การขึ้นที่สูง

บทความนี้จะกล่าวถึงข้อเสียต่าง ๆ ของภาวะนั่งนาน หรือ ที่เราอาจาจจะเรียกภาวะที่ครอบคลุมมากกว่าคือ ภาวะขาดการเคลื่อนไหว หรือ ภาวะเฉื่อยชา ซึ่งมีการศึกษาจำนวนมากที่กล่าวถึงผลเสียต่อสุขภาพของภาวะการขาดการเคลื่อนไหว

เกิดอะไรขึ้นกับร่างกายของคุณเมื่อคุณนั่งนานเกินไป? ส่งผลต่อการเสียหายของอวัยวะต่าง ๆ ดังนี้

หัวใจ: เมื่อคุณนั่งนานเลือดจะไหลช้าลงและกล้ามเนื้อจะเผาผลาญไขมันน้อยลงทำให้กรดไขมันอุดตันหัวใจง่ายขึ้น งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารของสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกาแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงที่นั่ง 10 ชั่วโมงหรือมากกว่าต่อวันอาจมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจได้มากกว่าคนที่นั่งเป็นเวลาห้าชั่วโมงหรือน้อยกว่า

ตับอ่อน: ความสามารถของร่างกายคุณในการตอบสนองต่ออินซูลินจะได้รับผลกระทบจากการนั่งนานๆ แม้เพียงวันเดียว ซึ่งทำให้ตับอ่อนของคุณผลิตอินซูลินได้มากขึ้นและอาจนำไปสู่โรคเบาหวาน การวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารโรคเบาหวานพบว่าผู้ที่นั่งเป็นเวลานานที่สุดมีแนวโน้มเป็นโรคเบาหวานหรือโรคหัวใจราวสองเท่าเมื่อเทียบกับคนที่นั่งน้อยกว่า 6 ชั่วโมง และการนั่งมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวันก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ถึงร้อยละ 90

ลำไส้ใหญ่ ปอด มดลูก: การนั่งเกินอาจทำให้คุณเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งปอดและมะเร็งของเยื่อบุโพรงมดลูก กลไกนี้ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่อาจเป็นเพราะการผลิตอินซูลินส่วนเกินซึ่งกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์ หรือการเคลื่อนไหวร่างกายจะช่วยเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกายของคุณ ซึ่งอาจจะช่วยขจัดอนุมูลอิสระที่ก่อให้เกิดมะเร็งได้

ผลการวิจัยที่นำเสนอในการประชุมด้านโรคมะเร็งในปี 2558 ยังพบว่าการนั่งนานทำให้มีโอกาสเกิดโรคมะเร็งของส่วนต่าง ๆ เพิ่มขึ้นดังนี้

  • มะเร็งปอด เพิ่มขึ้นร้อยละ 54
  • มะเร็งมดลูก เพิ่มขึ้นร้อยละ 66
  • มะเร็งลำไส้ใหญ่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 30

การย่อยอาหาร: การนั่งลงหลังกินอาหารทำให้อวัยวะในช่องท้องเคลื่อนไหวลดลง และลดการย่อยอาหารลง และจะนำไปสู่อาการตะคริว ท้องอืดท้องเฟ้อและท้องผูกรวมทั้งการเกิดภาวะความไม่สมดุลของจุลินทรีย์ในร่างกายของคุณ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคของความผิดปกติของลำไส้และลำไส้เล็กลำไส้ ความผิดปกติของลำไส้รวมถึงโรคลำไส้อักเสบ ลำไส้แปรปรวน (IBS) เป็นต้น

สมอง : การทำงานของสมองจะช้าลงเมื่อร่างกายของคุณอยู่นิ่งนานเกินไป สมองของคุณจะได้รับเลือดและออกซิเจนลดน้อยลง ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการกระตุ้นการปลดปล่อยสารเคมีในสมองและทำให้อารมณ์ที่ดีขึ้น

ปัญหาเกี่ยวกับท่าทาง

คอ บ่าและไหล่: เป็นปกติที่เราจะต้องพยายามตั้งคอและหน้าให้ตรงในขณะทำงานกับคอมพิวเตอร์หรือขณะที่รับโทรศัพท์ หรือ แนบโทรศัพท์ไว้กับหู ซึ่งการอยู่ท่านี้นาน ๆ อาจนำไปสู่การล้าของกระดูกสันหลังส่วนคอของคุณพร้อมกับความไม่สมดุล ซึ่งนำไปสู่ความตึง ปวดของคอ บ่าและไหล่ได้

หลัง: การนั่งจะทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังของคุณมีแรงกดมากกว่าขณะที่ยืนอยู่ และสุขภาพหลังของคุณจะแย่กว่าเดิมหากคุณนั่งหลังค่อมหน้าคอมพิวเตอร์ ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่มีอาการปวดหลังใช้เวลาทำงานที่คอมพิวเตอร์เป็นจำนวนมากในแต่ละวัน
หมอนรองกระดูกของคุณจะมีสภาพที่ดีขึ้น หากมีการเคลื่อนไหว เนื่องจากจะมีการกดและขยายตัวทำให้มีการดูดซึมเลือดและสารอาหาร เมื่อคุณนั่งนาน ๆ หมอนรองกระดูกจะบีบอัดและอาจสูญเสียความยืดหยุ่นเมื่อเวลาผ่านไป การนั่งมากเกินไปยังสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะการปลิ้นของหมอนรองกระดูก

การเสื่อมสภาพของกล้ามเนื้อ

การยืนหรือการเคลื่อนไหวอยู่ จะทำให้มีการตึงตัวของกล้ามเนื้อหน้าท้องของคุณ ซึ่งเมื่อคุณนั่งจะมีการหย่อนตัวในที่สุดนำไปสู่การอ่อนแอของกล้ามเนื้อหน้าท้อง และ มีผลต่อภาวะปวดหลังได้

สะโพก: การนั่งเป็นเวลานาน จะทำให้กล้ามเนื้อรอบสะโพกมีการตึงรั้ง และ ทำให้การเคลื่อนไหวของข้อสะโพกลดลงเนื่องจากการอยู้ในท่างอและไม่ได้เหยียด ซึ่งในผู้สูงอายุการเคลื่อนไหวที่ลดลงและการตึงรั้งของข้อสะโพกเป็นสาเหตุหลักของการหกล้ม และนั่งนาน ๆ ยังทำให้กล้ามเนื้อสะโพกและกล้ามเนื้อก้นด้านหลังไม่ได้ทำงาน ทำให้กล้ามเนื้ออ่นแอลง และจะมีผลต่อการก้าวที่มั่นคงของคุณขณะเดิน วิ่งหรือกระโดด

ความผิดปกติของขา

เส้นเลือดดำอุดตัน: การนั่งนำไปสู่การไหลเวียนไม่ดี ซึ่งอาจจะทำให้เกิดอาการบวมที่ข้อเท้า เส้นเลือดขอดและเกิดลิ่มเลือดที่เรียกว่าเส้นเลือดดำอุดตัน

กระดูกที่ลดความแข็งแรง: การเดินหรือวิ่งและการมีส่วนร่วมในกิจกรรมอื่น ๆ จะนำไปสู่เนื้อกระดูกที่หนาแน่นขึ้น การขาดกิจกรรมเหล่านี้ จะทำให้กระดูกขาดการกระตุ้นเพื่อให้มีการนำเข้ามาซ่อมแซม และจะนำไปสู่ภาวะกระดูกบางและแม้กระทั่งโรคกระดูกพรุน

การนั่งมากเกินไปทำให้คุณชีวิตสั้นลง

มีการศึกษาจำนวนมากที่แสดงว่า หากคุณใช้เวลามากไปในการนั่งในหนึ่งวัน คุณจะมีอายุที่สั้นลง การศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่าการลดเวลาเฉลี่ยที่คุณนั่งลงไปไม่ถึงสามชั่วโมงต่อวันอาจทำให้อายุขัยของคุณเพิ่มขึ้นได้อีกถึงสองปี การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์เวชศาสตร์การกีฬาของอังกฤษสรุปได้ว่า บุคคลที่อายุมากกว่า 25 ปี ที่นั่งนานหน้าจอโทรทัศน์นานขึ้น โดยทุกชั่วโมงที่นั่งนานขึ้นจะลดอายุขัยของคุณลงเกือบ 22 นาที ซึ่งหากเทียบกับการสูบบุหรี่ 1 ตัว จะลดอายุขัยของคุณประมาณ 11 นาที นักวิจัยพบว่าผู้ใหญ่ที่ใช้เวลาเฉลี่ย 6 ชั่วโมงหน้าจอโทรทัศน์จะลดอายุขัยของพวกเขาลง 5 ปี เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้เสียเวลากับดูโทรทัศน์

จากข้อมูลเบื้องต้นท่านคิดว่า ท่านจะเลือกการไปเริ่มเดินหลังอาหารบ้าง การมีกิจกรรมของร่างกาย การออกกำลังกาย
หรือท่านจะเลือกการนั่งนิ่ง ๆ ดูภาพยนต์ซีรีย์หลังกินอาหารหรือ ก่อนนอนล่ะครับ

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?