“ท้องอืด” อย่าปล่อยทิ้งไว้

“ท้องอืด” อย่าปล่อยทิ้งไว้

HIGHLIGHTS:

  • ท้องอืด นานเกินกว่า 2 สัปดาห์ รับประทานยาแล้วไม่ดีขึ้น รวมถึงน้ำหนักลด ซีด เบื่ออาหาร ตัวเหลือง อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคมะเร็ง
  • การทำงานแบบนั่งโต๊ะโดยไม่มีการออกกำลังกาย เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการท้องอืดได้

ท้องอืด อย่าปล่อยทิ้งไว้

แม้ท้องอืดจะเป็นเพียงอาการ ไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่ท้องอืดก็อาจเป็นอาการหนึ่งของโรคร้ายแรงได้ เช่น หากเกิดอาการท้องอืดนานเกินกว่า 2 สัปดาห์ รับประทานยาแล้วไม่ดีขึ้น รวมถึงน้ำหนักลด ซีด เบื่ออาหาร ตัวเหลือง อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคมะเร็ง ดังนั้นถ้าท้องอืดอย่าปล่อยทิ้งไว้เด็ดขาด

อาการท้องอืด

อาการท้องอืด คือ ความรู้สึกว่ามีลมในกระเพาะอาหาร หรือลำไส้ ทำให้อึดอัดไม่สบายตัว อาจมีอาการปวดท้องคลื่นไส้ หรืออยากอาหารน้อยลง ซึ่งโดยปกติแล้วการมีลมหรือแก๊สในกระเพาะอาหารนั้นอาจเกิดจากการกินอาหาร ทั้งลักษณะอาหาร และชนิดของอาหาร การสูบบุหรี่ การเคี้ยวหมากฝรั่งเป็นประจำ หรือผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางกลุ่ม เช่น ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท ยาคลายเครียด ซึ่งมีผลในการกดระบบประสาทและทำให้การบีบตัวของลำไส้ลดลงก็อาจส่งผลให้เกิดอาการท้องอืดได้เช่นกัน

ท้องอืดเกิดจากโรคอะไรบ้าง

สำหรับบางรายที่มีอาการท้องอืดมากหรือนาน อาจเนื่องมาจากโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร เช่น

  • โรคกระเพาะอาหารอักเสบ
  • กระเพาะเป็นแผล
  • มะเร็งทางเดินอาหารหรือลำไส้
  • มีการติดเชื้อพวกพยาธิ
  • โรคลำไส้แปรปรวน หรือเป็นการทำงานที่ผิดปกติของลำไส้เอง

รวมถึงโรคที่เกี่ยวกับระบบอื่นๆ เช่น ไทรอยด์ เบาหวาน ก็สามารถทำให้เกิดอาการท้องอืดร่วมด้วย ซึ่งต้องมีการตรวจเพิ่มเติม

ท้องอืด-ท้องเฟ้อ ต่างหรือเหมือนกัน

ท้องอืด-ท้องเฟ้อ เป็นคำรวมๆ ใช้เรียกอาการในกลุ่มลักษณะนี้ คือ มีแก๊สในกระเพาะอาหารมากจนรู้สึกอึดอัด แน่นท้อง ท้องอาจโตขึ้นหลังจากรับประทานอาหาร บางครั้งมีอาการคลื่นไส้ร่วมด้วย หรืออาจมีผายลมมากกว่าปกติ บางครั้งได้เรอหรือผายลมแล้วรู้สึกดีขึ้น

การรักษา

หากมีอาการดังที่กล่าวมา โดยไม่พบสัญญาณเตือน สามารถเลือกรับประทานยาขับลม หรือช่วยย่อย และปรับพฤติกรรมการกิน แต่ถ้าเป็นนานเกิน 2 สัปดาห์ อาการไม่ดีขึ้นหลังรับประทานยา ควรรีบพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจสืบค้นสาเหตุของอาการโดยละเอียด

การดูแลตัวเองเบื้องต้น

  • หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง ย่อยยาก
  • ไม่รับประทานอาหารครั้งละมากเกินไป
  • เคี้ยวอาหารให้ละเอียด
  • การทำงานแบบนั่งโต๊ะโดยไม่มีการออกกำลังกาย เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการท้องอืดได้บ่อยขึ้น ดังนั้นจึงควรออกกำลังกายสม่ำเสมอต่อเนื่อง

หากเกิดอาการ ท้องอืดอย่าปล่อยทิ้งไว้ เพราะแม้ท้องอืดจะเป็นเพียงอาการ ไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่ท้องอืดก็อาจเป็นอาการหนึ่งของโรคร้ายแรง หรือพัฒนาไปสู่โรคอื่นๆ ได้


คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับอาการ ท้องอืด

  • อาการท้องอืด  แน่นท้อง ท้องผูก และเหมือนพุงจะใหญ่ขึ้นด้วย เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง

อาการท้องผูก แน่นท้อง อาจเกิดจากพฤติกรรม เช่น รับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย ดื่มน้ำน้อย ไม่ค่อยขยับร่างกาย หรืออาจเกิดจากยาบางตัวที่ทำให้ท้องผูก ที่พบได้บ่อยคือ แคลเซียม ธาตุเหล็ก หรือเกิดจากโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคฮอร์โมนไธรอยด์ต่ำ โรคทางระบบประสาท นอกจากนั้นอาจเกิดจากมีความผิดปกติของลำไส้เอง เช่น มะเร็งลำไส้

  • โดยปกติแล้วการขับถ่ายที่ดีควรเป็นอย่างไร

การขับถ่ายปกติคือการถ่ายไม่เกิน 3 ครั้งต่อวัน และไม่ต่ำกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยลักษณะอุจจาระต้องปกติ ไม่เหลว หรือแข็งเกินไป

  • ถ้าไม่ได้ขับถ่ายทุกวัน จะถือว่าผิดปกติหรือไม่

ไม่ผิดปกติ ถ้าถ่ายวันเว้นวัน และอุจจาระไม่แข็ง หรือเป็นเม็ดๆ

  • ถ้าอยากให้การขับถ่ายกลับมาเป็นปกติควรทำอย่างไร

  • รับประทานอาหารที่มีกากใยมากๆ ผัก ผลไม้
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ วันละ ประมาณ 2 ลิตร ( 8 แก้ว ต่อวัน)
  • ฝึกถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลา
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

ถ้าปรับพฤติกรรมแล้ว ยังไม่ดีขึ้น และมีอาการร่วมอย่างอื่น เช่น ปวดท้อง ถ่ายมีเลือดปน ผอมลง น้ำหนักลด ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อค้นหาความผิดปกติของลำไส้ใหญ่ด้วยการส่องกล้อง


วิดีโอคอลปรึกษาหมอออนไลน์ เรื่องอะไรได้บ้าง ? คลิกอ่านเพิ่มเติม

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?