ความดันโลหิตสูงผิดปกติ ทำอย่างไรดี

ความดันโลหิตสูงผิดปกติ ทำอย่างไรดี

HIGHLIGHTS:

  • หากตรวจเจอว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง แม้จะยังไม่พบอาการผิดปกติใดๆ ก็จำเป็นต้องรับรักษาก่อนที่อวัยวะต่างๆ จะถูกทำลาย
  • การรับประทานอาหารที่มีเกลือโซเดียมสูง เป็นสาเหตุหนึ่งของโรคความดันโลหิตสูง
  • การซื้อยาลดความดันทานเอง อาจส่งผลร้ายและอันตรายแทรกซ้อน เช่น ไตวาย หน้า

ทำความรู้จักกับความดันโลหิต

ค่าความดันโลหิต ปกติจะประกอบด้วย 2 ค่า คือ ความดันช่วงหัวใจบีบตัว (Systolic blood pressure, SBP) หรืออาจเรียกว่าความดันตัวบน และ ความดันช่วงหัวใจคลายตัว (Diastolic blood pressure, DBP) หรือความดันตัวล่าง

ตัวเลข 2 ค่านี้ จะเป็นความดันสูงสุดและต่ำสุดในหลอดเลือดแดง ซึ่งโดยทั่วไป การจะวินิจฉัยว่าใครสักคนเป็นโรคความดันโลหิตสูงนั้น จะใช้เกณฑ์ที่ความดันโลหิต (ตัวบน / ตัวล่าง) มากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท (mmHg) ตลอดเวลา แม้ในระยะพักผ่อนปกติ

แต่เนื่องจากข้อมูลงานวิจัยใหม่ๆ พบว่าความดันโลหิตที่สูงขึ้นแม้เพียงเล็กน้อย ก็เริ่มทำให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นแล้ว อ้างอิงตามคำแนะนำจากสมาคมโรคหัวใจสหรัฐอเมริกาปี 2017 จึงได้กำหนดนิยามความดันโลหิตสูงใหม่เป็น

  • ความดันโลหิตปกติ (Normal blood pressure) คือความดันโลหิตน้อยกว่า 120/80 mm Hg.
  • ความดันโลหิตเริ่มสูง (Elevated blood pressure) คือ ความดันโลหิตตัวบนอยู่ในช่วง 120 – 129 mmHg และความดันโลหิตตัวล่างยังต่ำกว่า 80 mmHg ความดันโลหิตระดับนี้มีแนวโน้มแย่ลงในอนาคต หากไม่ได้รับการรักษาหรือกระทำการใดๆ เพื่อช่วยควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ
  • ความดันโลหิตสูงระดับ 1 (Stage 1 hypertension) คือความดันโลหิตตัวบนอยู่ในช่วง 130 – 139 mmHg หรือ ความดันโลหิตตัวล่างอยู่ในช่วง 80 – 89 mmHg
  • ความดันโลหิตสูงระดับ 2 (Stage 2 hypertension) คือความดันโลหิตตัวบนมีค่าตั้งแต่ 140 mmHg ขึ้นไป หรือความดันโลหิตตัวล่างตั้งแต่ 90 mmHg ขึ้นไป

คำถามน่ารู้เกี่ยวกับความดันโลหิต

Q: แล้วถ้าเราวัดความดันโลหิตตัวเองโดยบังเอิญ 1 ครั้ง พบว่าเข้าเกณฑ์ความดันโลหิตสูงแล้ว จะถือว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูงเลยหรือไม่

A: ยัง เนื่องจากความดันโลหิตคนเราจะมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นๆ ลงๆ ได้ตลอดทั้งวันจากกิจกรรมต่าง ๆ ช่วงเวลากลางวันกลางคืน อารมณ์ หรือแม้แต่ปัจจัยเล็กน้อย เช่น เล่นโทรศัพท์มือถือ ก็ยังมีผลต่อระดับความดันโลหิตได้ ในผู้ป่วยบางรายอาจมีภาวะ “white coat hypertension” คือภาวะตื่นเต้นจากการมาพบคุณหมอ เลยทำให้วัดได้ความดันโลหิตสูงทุกครั้งที่มาโรงพยาบาล แต่กลับวัดได้ปกติเมื่ออยู่ที่บ้าน หรือบางคนซื้อเครื่องวัดความดันอัตโนมัติใช้เองที่บ้าน แต่เลือกรุ่นที่อุปกรณ์พันแขนขนาดไม่เหมาะสมกับตัวเอง ก็ทำให้ค่าความดันโลหิตเพี้ยนไปได้

ดังนั้นแล้ว เมื่อวัดความดันตัวเอง 1 ครั้ง แล้วพบว่าค่าสูงกว่าเกณฑ์ปกติ แนะนำให้มาปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อให้แพทย์ช่วยวางแผนประเมินยืนยันว่า เราเป็นโรคความดันโลหิตสูงแล้วหรือยัง ในบางรายแพทย์อาจแนะนำให้ทำตารางวัดความดันเองตามช่วงเวลาที่แพทย์กำหนดเมื่ออยู่บ้าน เพื่อยืนยันว่าค่าความดันโลหิตปกติในชีวิตประจำวันของคุณคือเท่าไรกันแน่ เพื่อจะได้รับการรักษาที่เหมาะสมได้อย่างแท้จริง

Q: เคยตรวจเจอว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูงแล้ว แต่ยังไม่เคยมีอาการผิดปกติใดๆ จำเป็นต้องรักษาเลยหรือไม่

A: จำเป็น เนื่องจากว่าโรคความดันโลหิตสูง จะมีลักษณะเป็นแบบ Silent killer (มัจจุราชเงียบ) คือผู้ป่วยโดยมากจะไม่มีอาการใดๆ เลย แต่อวัยวะภายในต่างๆ จะเกิดความเสื่อมถอยลงไปเรื่อยๆ จนท้ายที่สุดเมื่ออวัยวะต่างๆ ถูกทำลายไปแล้ว หรือเริ่มมีอาการแสดง เช่น เจ็บหน้าอกจากโรคหัวใจ อัมพฤกต์จากโรคหลอดเลือดสมอง ตัวบวมปัสสาวะออกน้อยจากโรคไตวาย ฯลฯ ก็ยากที่จะทำให้อวัยวะนั้น ๆ ฟื้นฟูกลับมาเป็นปกติได้อีก อาจจะช่วยได้เพียงแค่ประคับประคองอาการเท่านั้น

Q: แล้วจะทำอย่างไร เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรคความดันโลหิตสูง

A: สำหรับคนทั่วไป รวมถึงผู้มีความดันโลหิตสูงแล้ว การปฏิบัติตัวในชีวิตประจำวันที่เหมาะสม (lifestyle modification) จะมีบทบาทสำคัญในการควบคุมความดันให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ซึ่งก็คือ

  • การลดน้ำหนักในกลุ่มผู้มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน (BMI > 25 kg/m2)
  • รับประทานอาหารที่มีเกลือโซเดียมต่ำ และเพิ่มการรับประทานผักและผลไม้
  • ออกกำลังกาย
  • ลดหรือเลิกบุหรี่
  • ลดภาวะตึงเครียดในชีวิตประจำวัน (Psychosocial stress) เช่น ร้องคาราโอเกะ ทัวร์เที่ยวไทย แต่งชุดไทยร่วมงานย้อนยุค หรือทัวร์ทำบุญ 9 วัด ตามรอยละครดัง ก็เป็นวิธีที่น่าสนใจและอินเทรนด์
  • รักษาภาวะนอนกรนที่มีลักษณะการหยุดหายใจขณะหลับ (sleep apnea) กรณีสงสัยภาวะดังกล่าว ควรให้แพทย์เฉพาะทางด้านโรคหูคอจมูกช่วยตรวจยืนยันและวินิจฉัย
  • จำกัดปริมาณแอลกอฮอล์ ในผู้ชายไม่ควรเกิน 2 ดริ๊ง*/วัน และสำหรับผู้หญิงไม่เกิน 1 ดริ๊ง*/วัน

ปริมาณ standard drink (1 ดริ๊ง) ขึ้นกับความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ ซึ่งโดยทั่วไปคือ

  • วิสกี้ บรั่นดี 1 ดริ๊ง คือ 45 ซีซี หรือ 1.5 ออนซ์ (4.5 ฝาสูง)
  • ไวน์ 1 ดริ๊ง คือ 150 ซีซี หรือ 5 ออนซ์ (ประมาณ 1/5 ขวด)
  • เบียร์ 1 ดริ๊ง คือ 360 ซีซี หรือ 12 ออนซ์ (ประมาณ 1 กระป๋องเล็ก)

สำหรับยาลดความดันโลหิต แพทย์มักจะสั่งให้ต่อเมื่อหลังจากพยายามปรับวิถีชีวิตประจำวันแล้ว ก็ยังไม่สามารถช่วยควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ ซึ่งในแต่ละคนจะมีใช้ยาลดความดันที่เหมาะกับตัวเองต่างๆ กันไป ต้องพิจารณาเลือกใช้ยาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ไม่ควรซื้อยาลดความดันมาใช้เองเป็นอันขาด เพราะนอกจากจะไม่ได้ผลในการรักษาแล้ว ยังอาจเกิดอันตรายแทรกซ้อนเพิ่มอีก เช่น ไตวาย หน้ามืด หมดสติ หรือ ช๊อค ได้

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?