ปวดศีรษะไมเกรน

ปวดศีรษะไมเกรน

HIGHLIGHTS:

  • ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะเป็นไมเกรนมากกว่าผู้ชายถึง 3 เท่า และมักมีอาการปวดช่วงก่อนหรือหลังมีประจำเดือน ซึ่งส่วนใหญ่จะหายไปในระหว่างตั้งครรภ์หรือวัยหมดประจำเดือน
  • การอดนอน และความเครียด มีผลกระตุ้นให้อาการปวดไมเกรนเกิดขึ้นบ่อยและรุนแรงมากขึ้น
  • การรักษาด้วยการกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Transcranial Magnetic Stimulation-TMS) เป็นอีกวิธีหนึ่ง ที่ช่วยลดและป้องกันภาวะปวดศีรษะไมเกรนได้

อาการปวดศีรษะไมเกรน  คืออาการปวดศรีษะอย่างรุนแรง ที่บริเวณด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งมักปวดข้างเดิมอยู่ซ้ำ ๆ  และมักมาพร้อมกับอาการคลื่นไส้อาเจียน  รวมถึงความรู้สึกไวต่อแสงและเสียง อาการไมเกรนสามารถอยู่ได้นานหลายชั่วโมงต่อวัน อาการปวดอาจรุนแรงจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน

หากละเลยไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้อาการปวดรุนแรงมากขึ้น  ความถี่เพิ่มขึ้น  ตอบสนองต่อยาที่รักษาได้ไม่ดีนัก แม้ว่าจะได้รับยาลดอาการปวดหลายชนิดก็ตาม

สาเหตุของการปวดศีรษะไมเกรน

อาการปวดศีรษะไมเกรน เกิดจากความผิดปกติของระบบสารสื่อประสาทในสมองบริเวณชั้นเยื่อหุ้มสมอง  ทำให้เกิดการหลั่งสารสื่อประสาทผิดปกติ มีผลให้หลอดเลือดบริเวณเยื่อหุ้มสมองเกิดการอักเสบและขยายตัว ส่งผลให้มีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง

อย่างไรก็ตามไมเกรนถือว่าเป็นโรคทางสมองชนิดหนึ่งที่ยังไม่สามารถระบุสาเหตุสิ่งผิดปกติได้แน่ชัด   มักเกิดขึ้นโดยมีปัจจัยกระตุ้น ดังนี้

  • พันธุกรรม ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นไมเกรน มีความเสี่ยงเป็นไมเกรนได้เช่นกัน
  • อายุ  ไมเกรนสามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย  มักเกิดสูงสุดในช่วงอายุ ระหว่าง 25 – 45 ปี
  • เพศ ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะเป็นไมเกรนมากกว่าผู้ชายถึง 3 เท่า
  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน สำหรับผู้หญิงที่เป็นไมเกรน มักมีอาการปวดศีรษะช่วงก่อนหรือหลังมีประจำเดือน  ซึ่งส่วนใหญ่จะหายไปในระหว่างตั้งครรภ์หรือวัยหมดประจำเดือน
  • การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด หรือการบำบัดทดแทนฮอร์โมน อาจทำให้อาการไมเกรนแย่ลง แต่ในผู้หญิงบางคนพบว่าอาการปวดศีรษะไมเกรนเกิดน้อยลงเมื่อรับประทานยาเหล่านี้
  • อาหารบางชนิด เช่น ผงชูรส น้ำตาลเทียม ชีส ไวน์ ช็อกโกแล็ต ชา และกาแฟ
  • การกระตุ้นทางประสาทสัมผัส เช่น แสงจ้า เสียงดัง กลิ่นเหม็น และควันบุหรี่
  • การอดนอน และความเครียด มีผลกระตุ้นให้อาการปวดไมเกรนเกิดขึ้นบ่อยและรุนแรงมากขึ้น

อาการของไมเกรน

  • อาการปวดศีรษะรุนแรงที่มีลักษณะปวดตุ้บๆ เป็นจังหวะที่บริเวณด้านใด ด้านหนึ่งของศีรษะ หรืออาจเกิดขึ้นทั้งสองข้าง และมักปวดข้างเดิมๆ ซ้ำๆ
  • การเคลื่อนไหวร่างกายหรือเปลี่ยนท่าทางจะกระตุ้นให้ปวดมากขึ้น
  • รู้สึกไวต่อแสง เสียง และกลิ่น
  • คลื่นไส้และอาเจียน

ปวดแบบไหนที่ควรพบแพทย์

อาการไมเกรนมักเกิดขึ้นนานตั้งแต่ 4- 72 ชั่วโมง  และเกิดขึ้นบ่อยแค่ไหนนั้นแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล  แต่หากพบว่าอาการรุนแรงจนรบกวนชีวิตประจำวัน หรือมีอาการต่อไปนี้ควรพบแพทย์โดยทันที

  • ปวดศีรษะอย่างฉับพลันและรุนแรงเหมือนสายฟ้าฟาด
  • ปวดศีรษะ มีไข้ และสับสน ทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอลแล้วไม่ดีขึ้น
  • อาการปวดเรื้อรัง หรือแย่ลงหลังจากการไอ การออกแรง หรือมีการเคลื่อนไหวอย่างฉับพลัน
  • แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด ชาตามร่างกาย
  • การมองเห็นผิดปกติ เช่น มองเห็นภาพซ้อน ตามัว ภาพดับ

การรักษาไมเกรน

การรักษาไมเกรนแบ่งออกเป็นการรักษาแบบฉับพลัน และการป้องกัน

การรักษาแบบฉับพลัน

  • ยาบรรเทาอาการปวด ได้แก่ กลุ่มที่ไม่ใช่ Steroid หรือที่เรียกว่า NSAIDS, กลุ่มทริปแทน (Tryptan) หรือ เออโกตามีน(ergotamine) ซึ่งเป็นกลุ่มยาที่ใช้เมื่อมีอาการปวด อย่างไรก็ตาม หากใช้ยาติดต่อกันเป็นเวลานานเกินไปอาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะจากการใช้ยามากเกินไป และอาจทำให้เกิดแผลในทางเดินอาหารได้
  • ยาต้านอาการคลื่นไส้ ช่วยได้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้ และอาเจียนร่วมด้วย

การป้องกัน

  • ยาป้องกัน ซึ่งต้องรับประทานทุกวัน ซึ่งได้แก่กลุ่ม ยาควบคุมความดันโลหิต  ยากันชักบางชนิด  ยาต้านอาการซึมเศร้า ซึ่งแพทย์เป็นผู้พิจารณาจากผลตรวจร่างกายของผู้ป่วย
  • การฉีดโบท็อกซ์  แพทย์มักใช้รักษาในกรณีผู้ป่วยที่มีอาการปวดศีรษะไมเกรนอย่างน้อย 14 วันต่อเดือนขึ้นไป ร่วมกับการรับประทานยา การฉีดโบท็อกซ์ช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว และยับยั้งปลายประสาท ที่ส่งสัญญาณความเจ็บปวดไปยังสมอง เพื่อลดอาการปวดศีรษะรุนแรงได้เป็นอย่างดี  และมีผลข้างเคียงน้อยมาก
  • การรักษาด้วยการกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Transcranial Magnetic Stimulation-TMS) ได้รับการรับรองขององค์การอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริกา  เป็นการรักษาที่ไม่ต้องดมยาสลบและไม่เจ็บปวด สามารถรักษาแบบผู้ป่วยนอกได้ ใช้เวลาในการรักษาประมาณ30-60 นาที สามารถทำต่อเนื่องติดต่อกันได้
  • การออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • การทำสมาธิ

แม้ไมเกรนจะเป็นภาวะการปวดศีรษะเรื้อรังหรือเป็น ๆ หาย ๆ ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรหลีกเลี่ยงภาวะที่เป็นตัวกระตุ้น การปวดศีรษะดังที่กล่าวมา รวมถึงการป้องกัน เช่น  นอนหลับให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ   พยายามลดความเครียด

เมื่อเริ่มมีอาการของไมเกรนควรอยู่ในห้องที่เงียบและมืด หลับตาและพักผ่อนหรือนอนหลับ  ร่วมกับการประคบเย็นบริเวณต้นคอ พร้อมกับนวดบริเวณที่ปวดก็จะช่วยบรรเทาอาการได้

ทั้งนี้หากมีอาการปวดศีรษะรุนแรง  รวมถึงมีอาการอื่นๆ   เช่น คลื่นไส้อาเจียน มองเห็นภาพซ้อน  พูดลำบาก ร่างกายอ่อนแรงครึ่งซีก  ควรพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง

สอบถามเพิ่มเติม

*โปรดระบุ

ชื่อ*
ชื่อ*
นามสกุล*
นามสกุล*
ประเภทคำถาม*
ประเภทคำถาม*
คำถามของคุณ*
คำถามของคุณ*
อีเมล*
อีเมล*
คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?