ผ่าตัดนิ้วล็อค แบบเจาะผ่านผิวหนัง

ผ่าตัดนิ้วล็อค แบบเจาะผ่านผิวหนัง

นิ้วล็อค คืออะไร

นิ้วล็อค เป็นภาษาที่เรียกกันง่าย ๆ ตามอาการที่เป็น คือผู้ป่วยจะมีอาการเหมือนนิ้วล็อค นั่นคือกำมืองอนิ้วได้แต่เวลาเหยียดนิ้วออก นิ้วใดนิ้วหนึ่งเกิดเหยียดไม่ออกเหมือนโดนล็อคไว้ จึงเป็นที่มาของคำว่า “นิ้วล็อค”

ถ้าเรียกกันให้ถูกต้องแล้ว โรคนี้ต้องเรียกว่า “โรคนิ้วเหนี่ยวไกปืน” ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Trigger Finger” เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของเยื่อหุ้มเส้นเอ็นงอนิ้วบริเวณฝ่ามือ ตรงตำแหน่งโคนนิ้ว มีโอกาสเป็นได้ทุกนิ้ว ผู้ป่วยบางคนอาจจะเป็น 2 หรือ 3 นิ้วพร้อมกันได้ หรือเป็นที่มือทั้ง 2 ข้าง

พบบ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย อายุประมาณ 40 – 50 ปี โดยโรคนี้ทำให้ผู้ป่วยเกิดความลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน โดยมากจะเกิดกับผู้ที่ใช้งานมือในลักษณะเกร็งนิ้วบ่อย ๆ เช่น การทำงานบ้านต่าง ๆ การหิ้วของหนัก การใช้กรรไกรตัดกิ่งไม้ ตัดผ้า การยกของหนักต่าง ๆ เป็นต้น

นวัตกรรมมีดผ่าตัดนิ้วล็อค

A-knife หรือมีดผ่าตัดนิ้วล็อคแบบเจาะผิวหนัง เป็นนวัตกรรมใหม่ของเครื่องมือช่วยการผ่าตัดโรคนิ้วล็อคหายภายใน  2  นาที ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวด ‘True Innovation Award 2012’

โดย A-knife หรือมีดผ่าตัดนิ้วล็อคแบบเจาะผิวหนัง เป็นนวัตกรรมใหม่ของการผ่าตัดโรคนิ้วล็อค เป็นมีดที่มีลักษณะปลายเล็กขนาดปลายประมาณ 2 ม.ม. (แผลเดิม 1.5 ซม.)

ลักษณะพิเศษของมีด คือปลายจะมนทำให้ไม่เกิดการบาดเจ็บหรือกระทบกระเทือนต่ออวัยวะส่วนอื่น ที่จากเดิมต้องผ่ากรีดผิวหนังประมาณ 1.5 ซม. และใช้มีดตัดปลอกหุ้มเอ็นซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคนิ้วล็อค

ขั้นตอนการผ่าตัดโดยการเจาะผ่านผิวหนัง (Percutaneous Trigger Finger Knife)

  • ไม่ต้องงดน้ำหรืออาหารก่อนผ่าตัด
  • แพทย์จะทำความสะอาดทายาฆ่าเชื้อ และคลุมผ้าปราศจากเชื้อบริเวณมือที่จะผ่าตัด
  • ฉีดยาชานิ้วที่จะผ่า
  • เจาะตัดปลอกหุ้มเอ็นซึ่งเป็นสาเหตุของนิ้วล็อคด้วย A-knife
  • ขั้นตอนสำคัญที่สุดที่ผู้ป่วยต้องทำตามที่แพทย์สั่งคือ แพทย์จะบอกให้ผู้ป่วยงอและเหยียดนิ้ว ให้ผู้ป่วยกำงอนิ้วมือให้สุดและเหยียดนิ้วมือให้สุดช้า ๆ ทำซ้ำ ๆ พร้อมกับสังเกตว่ายังคงมีอาการนิ้วล็อคอยู่หรือไม่ การผ่าตัดจะเสร็จสิ้นก็ต่อเมื่อไม่มีอาการล็อคหรือติดขัดของนิ้วเหลืออยู่
  • ใช้ผ้าก๊อซปิดบาดแผล ไม่ต้องเย็บแผล

นวัตกรรม ผ่าตัดนิ้วล็อค แบบเจาะผ่านผิวหนัง (Percutaneous Trigger Finger Knife)

  • ไม่ต้องเข้าห้องผ่าตัด
  • แผลผ่าตัดเล็ก
  • เจ็บน้อย
  • ไม่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บของเส้นเอ็นโดยรอบ
  • มือที่ผ่าตัดสามารถใช้งานและโดนน้ำได้ใน 24 ชั่วโมง
  • ลดระยะเวลาในการผ่าตัด การใช้ห้องผ่าตัด อุปกรณ์ผ่าตัด และเจ้าหน้าที่  
  • ลดค่าใช้จ่าย
  • ลดระยะพักฟื้น ผู้ป่วยสามารถกลับมาทำงานได้ภายใน 24  ชั่วโมง

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?