ท้องอายุมาก…ยากอย่างไร

ท้องอายุมาก…ยากอย่างไร

สมัยก่อนเรามักจะเห็นคนเป็นคุณแม่กันตั้งแต่วัยละอ่อน อายุ 20 กว่า ก็มีลูกกันแล้ว ผิดกับสมัยนี้ที่เรามักจะเห็นคนเป็นคุณแม่กันตอนวัยเก๋า อายุราว 30 ปลายๆ ท้องตอนอายุ 40 หรือใกล้จะ 40 กันเข้าไปแล้ว เพราะผู้หญิงสมัยใหม่แต่งงานช้าลง ต้องการความมั่นคงในชีวิต เด็กที่เกิดจากคุณแม่ที่มีอายุมากถึงแม้ส่วนใหญ่จะเป็นปกติดี แต่ก็พบว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางพันธุกรรมได้เพิ่มขึ้น ท้องตอนอายุมากไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป แต่มีเรื่องราวที่ควรต้องใส่ใจกันให้มากขึ้น

ท้องตอนอายุมากมีผลอย่างไร

การที่ผู้หญิงท้องตอนอายุมากนั้น มีโอกาสที่จะเพิ่มความเสี่ยงต่างๆ ได้ทั้งคุณแม่และคุณลูก

  • สำหรับตัวคุณแม่ หากท้องตอนอายุมาก มีโอกาสเป็นโรคความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ เบาหวานขณะตั้งครรภ์ เพิ่มขึ้นกว่าคนที่ตั้งครรภ์กันตอนอายุยังน้อย  ซึ่งพบว่าคนท้องที่มีอายุมากกว่า 35 ปี จะเกิดโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์ได้สูงกว่าคนทั่วไปถึง 2 เท่าเมื่อเทียบกับคนอายุ 20 ปี
  • สำหรับลูก อาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดดาวน์ซินโดรม เนื่องจากดาวน์ซินโดรมมีความสัมพันธ์กับอายุของคุณแม่ที่มากขึ้น ยิ่งคุณแม่มีอายุมากขึ้นเท่าไหร่ ลูกจะมีโอกาสเสี่ยงมากขึ้นเท่านั้น ตามสถิติพบว่า

ในผู้หญิงอายุ 25 ปี จะพบการคลอดเด็กดาวน์ซินโดรม 1 ราย จากการคลอดปกติจำนวน 1,250 ราย แต่เมื่ออายุ 40 ปี จะพบเด็กดาวน์ซินโดรม 1 ราย จากการคลอดจำนวน 106 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าใจหายกันเลยทีเดียว

รู้ได้อย่างไรว่าลูกจะเป็นดาวน์ซินโดรมหรือไม่

สำหรับคุณแม่ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป (นับอายุถึงวันคลอด) ควรได้รับการตรวจคัดกรองกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม ซึ่งสามารถทำได้โดยการตรวจเลือดเมื่ออายุครรภ์ 10 สัปดาห์ขึ้นไป หรือการตรวจน้ำคร่ำโดยจะทำในช่วงที่อายุครรภ์ประมาณ 15-18 สัปดาห์ เพื่อเป็นการตรวจดูว่าเด็กมีกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรมหรือมีความผิดปกติทางโครโมโซมอื่นๆ หรือไม่ หากพบว่าเด็กมีอาการดาวน์ซินโดรมคุณแม่สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้

โรคทางพันธุกรรมอื่นๆ ที่ต้องใส่ใจ

นอกจากกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรมที่มีโอกาสเสี่ยงเป็นเพิ่มมากขึ้นผันตามอายุของคุณแม่แล้ว ยังมีโรคทางพันธุกรรมอย่างธาลัสซีเมีย ที่คุณพ่อคุณแม่สามารถถ่ายทอดไปยังลูกได้ ที่ไม่ควรมองข้ามเด็ดขาด ตามสถิติพบว่า 1 ใน 3 ของคนไทย มีภาวะแฝงของโรคธาลัสซีเมีย ซึ่งถ้าผู้ที่มีภาวะแฝงแต่งงานกับผู้ที่มีภาวะแฝงด้วยกัน ลูกที่เกิดมาจะมีโอกาสเป็นโรค 25% เป็นพาหะ 50% ปกติ 25% การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน จึงถือเป็นตัวช่วยวางแผนรับมือให้กับคนที่กำลังจะเป็นคุณพ่อคุณแม่ในอนาคต

ตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน สำคัญอย่างไร

คู่ที่กำลังจะแต่งงานส่วนใหญ่คงวุ่นวายไปกับเรื่องของชำร่วย สถานที่ เสื้อผ้าหน้าผม จนอาจมองข้ามเรื่องสุขภาพของคนทั้งสองไป และหลายคนอาจคิดว่าไม่จำเป็น แต่จริงๆ แล้วการตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะเชื้อโรคหรือพาหะต่างๆ ที่แฝงอยู่ในร่างกายคนเรานั้นมีมากมาย การตรวจสุขภาพจะเป็นการเช็คความพร้อมและความสมบูรณ์ของร่างกาย เพื่อป้องกันโรคที่สามารถติดต่อกันได้จากคู่สมรสและป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ลูกน้อยที่จะถือกำเนิดขึ้นมาในอนาคต ซึ่งมีพ่อแม่บางคนอาจจะเป็นพาหะนำโรคอยู่โดยที่ไม่รู้ตัว

การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานไม่ได้วุ่นวายอย่างที่คิด

ส่วนมากประกอบด้วย การตรวจเลือดทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง การตรวจร่างกายโดยแพทย์ทั่วไป และในฝ่ายหญิงอาจต้องตรวจภายในเพิ่ม เพื่อตรวจมะเร็งปากมดลูก อัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนล่างเพื่อประเมินมดลูกและปีกมดลูกตามแต่แพทย์จะเห็นสมควร

“การตั้งครรภ์ตอนอายุมาก อาจมีภาวะเสี่ยงต่างๆ เกิดขึ้นได้ก็จริง แต่หากมีการวางแผนที่ดี เตรียมความพร้อมด้านสุขภาพของคุณแม่ให้แข็งแรง ไม่ว่าจะท้องไหนๆ ก็เป็นท้องที่มีคุณภาพได้ไม่ยากค่ะ”

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?