ท้องสองอย่างไรไม่ให้ คลอดก่อนกำหนด

ท้องสองอย่างไรไม่ให้ คลอดก่อนกำหนด

HIGHLIGHTS:

  • คุณแม่ที่เคยคลอดลูกคนแรกก่อนกำหนด จะเพิ่มปัจจัยเสี่ยงของการ คลอดก่อนกำหนด ในท้องสองมากถึง 15%
  • การคลอดก่อนกำหนด จะมีความเสี่ยงที่ทารกคลอดออกมาจะมีผลต่อการพัฒนาอวัยวะต่างๆ เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่ายขึ้น  และอาจทำให้ทารกเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
  • การตรวจคัดกรองความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนดใน ท้องสอง สามารถทำได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 16 สัปดาห์ ซึ่งเป็นวิธีป้องกันที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ

การตั้งครรภ์ครบสมบูรณ์ตามกำหนดคลอดคือช่วงสัปดาห์ที่ 37-40 ดังนั้นหากมีการคลอดก่อนสัปดาห์ที่ 37 ของการตั้งครรภ์ เรียกว่า “ภาวะ คลอดก่อนกำหนด ”  ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่คุณแม่ตั้งครรภ์ส่วนใหญ่เป็นกังวลเนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อทั้งตัวคุณแม่เองและทารกแรกเกิด

ปัจจัยที่ทำให้คลอดก่อนกำหนด

การคลอดก่อนกำหนดเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น คุณแม่ตั้งครรภ์สูบบุหรี่ หรือได้รับควันบุหรี่เป็นประจำ การดื่มแอลกฮอล์ รับประทานยาบางชนิด คุณแม่ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ  ทำงานหนักระหว่างตั้งครรภ์ และการติดเชื้อในช่วงตั้งครรภ์ เป็นต้น

นอกจากนี้คุณแม่ที่เคยคลอดลูกคนแรกก่อนกำหนด จะเพิ่มปัจจัยเสี่ยงการคลอดก่อนกำหนดในท้องสองมากถึง   15%   และความเสี่ยงจะมากขึ้นเรื่อยๆ  ตามจำนวนครั้งที่เคยคลอดก่อนกำหนดมาแล้ว

วิธีป้องกันการ คลอดก่อนกำหนด (ในท้องสอง)

แม้การที่คุณแม่เคยคลอดก่อนกำหนด ในท้องแรก ถือเป็นปัจจัยสำคัญเพิ่มโอกาสการคลอดก่อนกำหนดของ ท้องสอง  จนคุณแม่หลายคนไม่กล้าตั้งครรภ์อีก  แต่หากคุณแม่เรียนรู้การป้องกันก็จะสามารถลดภาวะคลอดก่อนกำหนดของท้องสองได้ ด้วยวิธีการดังนี้

  • งดสูบบุหรี่และเลิกดื่มแอลกอฮอล์ หากสามารถทำได้ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ถือเป็นวิธีลดความเสี่ยงการคลอดก่อนกำหนดในท้องสองที่ดีที่สุด
  • ควบคุมโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โดยปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • รักษาอาการติดเชื้อให้หาย เนื่องจากการอักเสบและการติดเชื้อยิ่งทำให้มีโอกาสการคลอดก่อนกำหนดได้
  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หรือตามแพทย์แนะนำ เพื่อลดปัญหาการขาดสารอาหารที่จำเป็น
  • พักผ่อนให้เพียงพอ คุณแม่ตั้งครรภ์ควรนอนหลับอย่างน้อย 8 ชั่วโมง เพื่อให้เลือดไหลเวียนไปสู่มดลูกได้ดี
  • งดทำงานหนัก ไม่ยกของหนักหรือทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงมากๆ หากต้องการออกกำลังกายควรอยู่ในความดูแลของแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ
  • มีเพศสัมพันธ์อย่างระวัง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยงและขอคำแนะนำเรื่องการมีเพศสัมพันธ์อย่างถูกวิธีขณะตั้งครรภ์ 
  • หลีกเลี่ยงความเครียด โดยเฉพาะคุณแม่ที่กลัวว่าท้องสองจะคลอดก่อนกำหนด ควรปรึกษาแพทย์และพูดคุยถึงปัญหาหรือความวิตกกังวลให้แพทย์ทราบ รวมถึงพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ

การตรวจคัดกรองความเสี่ยงการคลอดก่อนกำหนด

การตรวจคัดกรองความเสี่ยงการคลอดก่อนกำหนดใน ท้องสอง ถือเป็นอีกวิธีป้องกันที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ สามารถตรวจได้หลายวิธี ดังนี้

  • การตรวจด้วยอัลตราซาวด์ผ่านทางปากมดลูก สามารถทำได้ตั้งแต่การตั้งครรภ์ในสัปดาห์ที่ 16
  • การตรวจเลือดและสารคัดหลั่งจากช่องคลอดของคุณแม่ตั้งครรภ์
  • การตรวจทางพันธุกรรม  นอกจากตรวจคัดกรองภาวะคลอดก่อนกำหนด ยังสามารถดูแนวโน้มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางพันธุกรรม และครรภ์เป็นพิษ ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อให้การป้องกันมีประสิทธิภาพที่สุด

 

การตรวจทางพันธุกรรม

การตรวจยีนก่อนตั้งครรภ์ เป็นการตรวจสุขภาพแบบ “Precision Medicine” ที่ช่วยเจาะจงความเสี่ยงลงลึกในระดับยีนของแต่ละบุคคล ทั้งทางด้านครอบครัว พันธุกรรม สิ่งแวดล้อม และรูปแบบการใช้ชีวิต  ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อตรวจหาความเสี่ยงภาวะคลอดก่อนกำหนดและวางแผนการรักษา  โดยเริ่มต้นตั้งแต่การซักประวัติอย่างละเอียด หากพบว่าคนไข้เคยมีประวัติคลอดก่อนกำหนดมาก่อน  จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงทันที

นอกจากนี้ยังมีการตรวจคัดกรองโดยการวัดความยาวของปากมดลูกด้วย ultrasound ทางช่องคลอด หากความยาวของปากมดลูกมีขนาดสั้นกว่าหรือเท่ากับ 25 มิลลิเมตร ก็เป็นสัญญาณเตือนว่าคุณแม่มีความเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนด  ซึ่งสามารถทำได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 16 สัปดาห์  หากพบการอักเสบภายในมดลูก แพทย์สามารถให้ยาป้องกันได้และลดการอักเสบ เพื่อลดภาวะการคลอดก่อนกำหนดได้ รวมถึงการตรวจหาสาร Fetal Fibronectin  ที่อยู่ระหว่างถุงน้ำคร่ำกับเยื่อบุโพรงมดลูก เพื่อหาแนวโน้มการคลอดก่อนกำหนดก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่นำมาใช้ในทางการแพทย์

การรักษาเพื่อป้องกันการ คลอดก่อนกำหนด

กรณีตรวจพบความเสี่ยงคลอดก่อนกำหนด แพทย์จะทำการรักษาเพื่อป้องกันการคลอดก่อนกำหนด ดังนี้

  • การให้ยา natural progesterone เพื่อป้องกันไม่ให้มดลูกหดรัดตัว
  • ใช้ห่วงพยุงปากมดลูก (Cervical pessary) เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับปากมดลูก ในกรณีที่ให้ยา natural progesterone แล้วไม่ได้ผล ปากมดลูกยังคงสั้นอยู่
  • การรักษาการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด หากการรักษาทั้ง 2 วิธี ที่กล่าวมาไม่ได้ผล คุณแม่ยังคงเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดอยู่ แพทย์จะให้ยาระงับการหดรัดตัวของมดลูกเพื่อชะลอการคลอดไว้ให้ได้อย่างน้อย 48 ชั่วโมง จากนั้นจึงให้ยาในกลุ่ม Steroid เพื่อกระตุ้นการทำงานของปอดของทารก และป้องกันเลือดออกในสมอง สุดท้ายจึงปล่อยให้ทารกคลอด และเข้าสู่กระบวนการดูแลทารกคลอดก่อนกำหนด อย่างมีประสิทธิภาพ

คลอดก่อนกำหนด อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อพัฒนาการของทารก

เนื่องจากทารกที่คลอดก่อนกำหนดมีความเสี่ยงต่อการพัฒนาอวัยวะต่างๆ และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น อาการหายใจลำบาก เกิดภาวะอุณหภูมิต่ำหรือตัวเย็น เกิดภาวะตัวเหลือง และซีด มีการสำลักนม ท้องอืดง่าย ติดเชื้อโรคได้ง่าย ฯลฯ และอาจทำให้ทารกเสี่ยงต่อการเสียชีวิต รวมถึงระยะยาวอาจพบปัญหาต่าง ๆ ตามมา เช่น โรคหัวใจวายพิการแต่กำเนิด มีความผิดปกติของสมอง ชัก หูหนวก ตาบอด และการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ ไอคิวต่ำ เป็นต้น

ดังนั้นหากตรวจพบปัจจัยเสี่ยง คุณแม่ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะคุณแม่ที่เคยประสบภาวะคลอดก่อนกำหนดในท้องแรกมาก่อน ไม่ควรวิตกกังวลมากเกินไปจนเกิดความเครียดการฝากครรภ์ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ จะช่วยลดความเสี่ยงการคลอดก่อนกำหนดได้ รวมถึงการดูแลสุขภาพ นอนหลับพักผ่อน กินอาหารที่มีประโยชน์อย่างเพียงพอ ไม่เครียด และมาตรวจตามที่แพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ

โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท ริเริ่มโปรแกรมการดูแลสุขภาพ ป้องกันการคลอดก่อนกำหนด และประสบความสำเร็จตั้งแต่ปี 2559

โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท คว้ารางวัลทรงเกียรติ “Healthcare Asia Award 2023” สาขา “Clinical Service Initiative of the Year”

ริเริ่มโปรแกรมการดูแลสุขภาพ ป้องกันการคลอดก่อนกำหนด และประสบความสำเร็จตั้งแต่ปี 2559

โดยมี รศ.ดร.นพ.บุญศรี จันทร์รัชชกูล ประธานโครงการและหัวหน้าคลินิกป้องกันการคลอดก่อนกำหนด เป็นตัวแทนขึ้นรับรางวัลในครั้งนี้

โรงพยาบาลสมิติเวชยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาโปรแกรมป้องกันการคลอดก่อนกำหนด เพื่อลดอัตราการคลอดก่อนกำหนดให้ดีขึ้นกว่าเดิม โดยจะทำงานร่วมกับโรงพยาบาลในประเทศไทยและในต่างประเทศ ช่วยเพิ่มคุณภาพในการดูแลสตรีตั้งครรภ์และทารกแรกเกิด เพื่อลดอัตราการคลอดก่อนกำหนด


คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?