ข้อเท้าเทียม ทางเลือกสำหรับผู้มีปัญหาข้อเท้าเสื่อม

ข้อเท้าเทียม ทางเลือกสำหรับผู้มีปัญหาข้อเท้าเสื่อม

HIGHLIGHTS:

  • ข้อเท้าเทียม (Ankle Arthroplasty) เป็นทางเลือกของผู้ที่ประสบปัญหา ข้อเท้าเสื่อม จากปัจจัยต่างๆ เช่น อุบัติเหตุ โรคไขข้ออักเสบและการบาดเจ็บของกระดูกอ่อน รวมถึงข้อเท้าเสื่อมตามวัยหรือการใช้งานที่ผ่านมา
  • ข้อเท้าเทียมได้ถูกพัฒนาขึ้นให้ใกล้เคียงกับข้อเท้าของมนุษย์มากที่สุด ทำให้เกิดการเชื่อมตัวกันระหว่างกระดูกของผู้ป่วยกับข้อเท้าเทียมได้ โดยไม่ต้องใช้ปูนเชื่อมกระดูก (cement)
  • ผ่าตัดข้อเท้า การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเท้าเทียมในปัจจุบัน มีข้อดีคือทำให้สามารถขยับข้อเท้าและทำกิจกรรมได้ใกล้เคียงกับก่อนผ่าตัดข้อเท้า และไม่ส่งผลให้เกิดการเสื่อมของข้อกระดูกใกล้เคียงอย่างมีนัยสำคัญ

ข้อเท้า เป็นข้อต่อสำคัญที่มักถูกมองข้าม และขาดการเอาใจใส่ดูแลอย่างเหมาะสม  โดยเฉพาะเมื่อประสบปัญหาข้อเท้าเสื่อม หรือได้รับการบาดเจ็บและไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจทำให้เกิดภาวะข้อเท้าผิดรูป พิสัยของข้อเท้าลดลง และนำไปสู่ความพิการได้ในที่สุด

นอกจากนี้ ภาวะปวดบวมและเดินไม่สะดวกยังสร้างความกังวลใจให้ผู้ป่วย รวมถึงลดทอนความสามารถของร่างกาย และเพิ่มความเครียดทางจิตใจ จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

การรักษาภาวะข้อเท้าเสื่อม ด้วยการผ่าตัดข้อเท้า

การรักษาภาวะบาดเจ็บบริเวณข้อเท้าให้ได้ผลดีนั้น มีความซับซ้อนกว่าการรักษาข้อต่อส่วนอื่น ๆ ของร่างกายมาก เนื่องจากข้อเท้าเป็นอวัยวะที่มีเลือดมาเลี้ยงน้อย เส้นเลือดอ้อมไปทางหัวแม่เท้าแล้วค่อยวกเข้ามาที่ข้อเท้า

รวมถึงแต่เดิมยังไม่มีผู้ผลิตกระดูกข้อเท้าเทียมออกขายเหมือนข้อต่อส่วนอื่นๆ ดังนั้นการรักษาภาวะบาดเจ็บแตกหักของข้อเท้าในอดีตจึงมีเพียงการผ่าตัดเชื่อมข้อเท้า (ankle arthrodesis หรือ ankle fusion) เพื่อทำให้กระดูกติดกัน และช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเดินได้ แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่กลับเดินไม่คล่องตัว เนื่องจากข้อเท้าแข็ง ไม่สามารถหมุนได้รอบตัวเหมือนเดิม ส่งผลให้คุณภาพชีวิตลดลง

ทั้งนี้ยังพบว่าเกิดการเสื่อมตัวลงอย่างรวดเร็วของข้อกระดูกใกล้เคียงกับกระดูกข้อเท้าในระยะเวลา 10 ปี หลังการผ่าตัดเชื่อมกระดูกข้อเท้า เนื่องจากกระดูกข้อต่างๆ ต้องทำหน้าที่รับน้ำหนักแทนกระดูกข้อเท้า

ปัจจุบันการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเท้าเทียม ถือเป็นทางเลือกที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถขยับข้อเท้าและทำกิจกรรมได้ใกล้เคียงกับก่อนผ่าตัด

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเท้าเทียม

สำหรับประเทศไทยได้คิดค้นการรักษาการเปลี่ยนข้อกระดูกเทียม (Total Talar Prosthesis Replacement – TPR) เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาข้อเท้าต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ในช่วงปี 2013-2014 โดยเริ่มต้นศึกษาวิจัยในผู้ป่วยอาการข้ออักเสบหรือข้อเท้าผิดปกติ ที่มีภาวะบาดเจ็บบริเวณข้อเท้าด้านหลัง (hind foot) ซึ่งประกอบด้วยกระดูก 2 ท่อน คือ Talus และ Calcaneus

โดยการผ่าตัดเอากระดูกข้อเท้าที่เสียหายออกมา จากนั้นจึงส่งต่อให้วิศวกรนำไปคำนวณขนาดจากเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ สร้างเป็นข้อเท้าเทียมจากไททาเนียมหรือสแตนเลส เมื่อได้ขนาดพอดีจึงผ่าตัดใส่ข้อเทียมเข้าไป โดยผู้ป่วยจำเป็นต้องฝึกกายภาพบำบัดต่อ เพื่อให้เคลื่อนไหวได้คล่องตัวขึ้น

ในผู้ป่วยที่ต้องเปลี่ยนข้อเท้าเทียมทั้งหมด (Total Ankle Replacement – TAR) ซึ่งเปลี่ยนทั้งกระดูกหน้าแข้งส่วนปลายและกระดูกข้อเท้า แพทย์ต้องแน่ใจว่าได้เลาะเอาเศษกระดูกและเนื้อเยื่อที่ไม่จำเป็นออก ซึ่งต่างจากกรณีที่เปลี่ยนข้อเท้าเพียงบางส่วน (TPR) ที่จะไม่มีการตัดกระดูกที่กระดูกหน้าแข้งส่วนปลายเนื่องจากมีการเปลี่ยนเฉพาะส่วนทาลัส (Talus)


การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเท้าเทียม ใช้เวลานานไหม ผ่าตัดข้อเท้า ต้องพักฟื้นกี่วัน

ในกรณีที่การผ่าตัดไม่ซับซ้อน ผู้ป่วยจะใช้เวลาในการฟื้นตัวได้ภายใน 4 สัปดาห์

หากการผ่าตัดที่มีความจำเป็นต้อง มีขั้นตอนเพิ่มเติมอาจต้องใช้เวลาฟื้นตัวนานขึ้นแต่ไม่เกิน 6 สัปดาห์ โดยระหว่างนั้นผู้ป่วยต้องฝึกการเดินและทำกายภาพบำบัดภายใต้การดูแลของแพทย์ รวมถึงไม่ควรลงน้ำหนักหรือใช้งานข้อเท้าเทียมหนักเกินไป

ผู้ป่วยทุกรายควรพบแพทย์เพื่อติดตามผลครั้งแรกภายใน 2 สัปดาห์ แล้วจึงห่างออกเป็น 6 สัปดาห์ 3 เดือน 6 เดือน และ1 ปี หลังจากนั้นแพทย์อาจนัดเพื่อมาตรวจความเสื่อมและประสิทธิภาพของข้อเท้าเทียมทุก ๆ ปี

แม้ปัจจุบันการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเท้าเทียมจะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากหลังผ่าตัดผู้ป่วยสามารถ สามารถเดินได้อย่างคล่องตัวและกลับไปทำกิจกรรมได้ใกล้เคียงกับก่อนการผ่าตัด ที่สำคัญคือสามารถใช้ชีวิตประจำวันด้วยตนเองได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น คุณภาพชีวิตจึงดีขึ้น


ข้อจำกัดของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเท้าเทียม

แต่การรักษาด้วยวิธีผ่าตัดเปลี่ยนข้อเท้าเทียม อาจไม่เหมาะกับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวบางชนิด เช่น ภาวะกระดูกพรุนอย่างรุนแรง หรือโรคเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี

เนื่องจากมีผู้ป่วยมีเลือดไปหล่อเลี้ยงเท้าหรือขาไม่เพียงพอ อาจส่งผลให้การรักษาไม่มีประสิทธิภาพ และอาจมีผลต่ออายุการใช้งานของข้อเท้าเทียม รวมทั้งภาวะแทรกซ้อนหรือการติดเชื้อหลังผ่าตัด

อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่สนใจการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเท้าเทียม สามารถเข้าพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย และปรึกษาแพทย์แล้วแต่กรณี

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?