การผ่าตัดลดน้ำหนัก

การผ่าตัดลดน้ำหนัก

การผ่าตัดลดน้ำหนักคืออะไร และทำอย่างไร

การผ่าตัดนี้ อาจทำเพื่อป้องกันไม่ให้คุณรับประทานมากเกินไป เช่น การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะ ซึ่งจะทำให้คุณอิ่มเร็วขึ้นและรับประทานได้น้อยลง

การผ่าตัดอาจช่วยเปลี่ยนวิธีที่ร่างกายจัดการกับอาหารที่คุณรับประทาน วิธีนี้จะทำให้อาหารที่คุณรับประทานนั้นไม่ต้องผ่านลำไส้ ทำให้ร่างกายคุณได้รับพลังงานจากอาหารน้อยลง ส่วนการผ่าตัดแบบอื่นๆอาจจะเป็นการผสมผสานของทั้งสองแบบได้

เมื่อไรจึงควรรับการผ่าตัดลดน้ำหนัก

การผ่าตัดลดน้ำหนักทำได้เมื่อคุณ

  • มีดัชนีมวลกาย (BMI) สูงกว่า 40
  • มีดัชนีมวลกายระหว่าง 35-40 และมีปัญหาสุขภาพที่สามารถแก้ไขหรือบรรเทาได้หากน้ำหนักลดลง (เช่น ความดันโลหิตสูง เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ปัญหาเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว หรือหยุดหายใจขณะหลับ)

หากคุณมีดัชนีมวลกายเกิน 50 แพทย์พิจารณาการผ่าตัดลดน้ำหนักจะเป็นอันดับแรก

ในกรณีที่คุณเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โดยเฉพาะหากคุณเริ่มเป็นเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา คุณควรพิจารณาการผ่าตัดลดน้ำหนักหากมีดัชนีมวลกาย 30-34.9 แต่หากดัชนีมวลกายสูงกว่า 35 การผ่าตัดลดน้ำหนักควรเป็นทางเลือกอันดับแรกที่คุณควรพิจารณา และต้องมีการประเมินสุขภาพอย่างเร่งด่วน

และหากคุณมีเชื้อสายเอเชีย คุณควรพิจารณาการผ่าตัดลดน้ำหนักแม้ว่าดัชนีมวลกายของคุณจะต่ำกว่านี้ก็ตาม เพราะความเสี่ยงของการมีน้ำหนักเกินในชาวเอเชียจะเกิดขึ้นในผู้ที่มีดัชนีมวลกายต่ำกว่านี้

ประโยชน์ของการผ่าตัดลดน้ำหนักคืออะไร

การผ่าตัดลดน้ำหนักนับเป็นวิธีการลดน้ำหนักในระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สุขภาพของคุณจะดีขึ้นอย่างมากหลังการผ่าตัดลดน้ำหนักแล้ว ตัวอย่างเช่น หายหรือควบคุมโรคเบาหวานชนิดที่ 2 หรือลดความดันโลหิตได้ดีขึ้น

ความเสี่ยงจากการผ่าตัดลดน้ำหนักมีอะไรบ้าง

ภายหลังการผ่าตัด อาจมีความเสี่ยงเล็กน้อยจากลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด (pulmonary embolism) หรือลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำส่วนลึก (Deep vein thrombosis) ซึ่งมียาที่ช่วยป้องกันอาการเหล่านี้ได้ นอกจากนี้การที่คุณเคลื่อนไหว หรือลุกขึ้นทำกิจกรรมต่างๆ ได้เร็วเท่าไร จะยิ่งช่วยลดความเสี่ยงของอาการเหล่านี้ได้ดียิ่งขึ้น ส่วนการติดเชื้อ ก็อาจพบได้บ้างหลังการผ่าตัดลดน้ำหนัก

หากน้ำหนักของคุณลดลงอย่างรวดเร็วหลังการผ่าตัด อาจพบนิ่วในถุงน้ำดีได้บ้างเช่นกัน

หรือหากน้ำหนักลดลงอย่างฮวบฮาบหลังผ่าตัด อาจะทำให้มีผิวหนังหย่อนคล้อยมากได้

การผ่าตัดลดน้ำหนักมีวิธีใดและต่างกันอย่างไรบ้าง

1) การผ่าตัดแบบใช้ห่วงรัดกระเพาะอาหาร (gastric band)

แพทย์จะใช้ห่วงพิเศษพันรอบกระเพาะอาหารส่วนบน ซึ่งจะแบ่งกระเพาะของคุณออกเป็นสองส่วน และเนื่องจากกระเพาะส่วนบนเล็กกว่า คุณจึงรับประทานอาหารได้น้อยลงและอิ่มเร็วขึ้น หลังจากรับประทานอาหารแล้ว อาหารจะค่อยๆ ผ่านไปยังกระเพาะส่วนล่างที่อยู่ใต้ห่วงและถูกย่อยตามปกติ

ห่วงพิเศษนี้ถูกออกแบบมาให้สามารถปรับได้หลังจากการผ่าตัด จึงปรับปริมาณอาหารที่คุณรับประทานได้ โดยห่วงนี้จะเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ที่ฝังไว้ใต้ผิวหนังที่ช่วยให้ปรับขนาดได้สะดวก การปรับขนาดของห่วง อาจทำภายหลังการผ่าตัดแล้ว 2-3 เดือนเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด และสามารถทำได้ในคลินิกผู้ป่วยนอก ไม่ต้องวางยาสลบ ไม่ต้องเข้าห้องผ่าตัด ข้อดีอีกประการหนึ่งคือ สามารถผ่าตัดแบบส่องกล้องได้ รวมทั้งยังสามารถเอาห่วงออกได้เมื่อต้องการ

ความเสี่ยงและอาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นคือ ห่วงอาจจะเลื่อนจากจุดเดิมทำให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน และหากเกิดขึ้นก็จำเป็นต้องผ่าตัดใหม่เพื่อเปลี่ยนห่วง

2) การผ่าตัดทำ Gastric bypass

ในการผ่าตัดแบบนี้ กระเพาะของคุณจะถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน โดยส่วนบนจะมีขนาดเล็กกว่า และแพทย์จะต่อลำไส้เล็กตรงเข้าสู่กระเพาะส่วนที่เล็กกว่านี้ เวลาที่คุณรับประทานอาหาร อาหารจึงไม่ต้องผ่านกระเพาะส่วนใหญ่กับลำไส้เล็กส่วนบน การที่กระเพาะใหม่มีขนาดเล็กกว่ากระเพาะเดิม คุณจึงจะได้รับปริมาณอาหารลดลงไปด้วย

ความเสี่ยงหลักๆ ของการผ่าตัดแบบ gastric bypass คืออาจมีการรั่วตรงที่ลำไส้เล็กต่อกับกระเพาะอาหารได้ แต่นับเป็นความเสี่ยงที่เกิดได้ยากมาก ถึงจะเกิดขึ้น แพทย์ก็สามารถผ่าตัดเพื่อปิดรอยรั่ว และเนื่องจากลำไส้เล็กส่วนหนึ่งจะไม่ถูกใช้งาน คุณมีโอกาสที่จะขาดวิตามินหรือแร่ธาตุบางชนิดได้ แต่ก็สามารถรับประทานวิตามินเสริมเพื่อทดแทนได้

3) การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะ (Sleeve gastrectomy)

ในการผ่าตัดแบบนี้ แพทย์จะตัดกระเพาะออกส่วนหนึ่งให้เหลือขนาดเล็กลง เมื่อกระเพาะมีขนาดเล็กลง คุณจะรับประทานได้น้อย และอิ่มเร็วขึ้น การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะทำได้ง่าย เร็ว และมีอาการแทรกซ้อนน้อยกว่าการผ่าตัดแบบอื่นๆ

ก่อนการผ่าตัดต้องทำอะไร

ต้องมีการตรวจเพื่อให้แน่ใจว่าร่างกายของคุณพร้อม และจะผ่าตัดได้โดยปลอดภัย เช่น ตรวจการทำงานของหัวใจและปอด เป็นต้น

ผ่าตัดเสร็จแล้วต้องทำอะไรบ้าง

หลังจากคุณผ่าตัดเพื่อลดน้ำหนักแล้ว คุณต้องมาพบแพทย์และทีมผู้เชี่ยวชาญเพื่อติดตามผลอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 2 ปี หลังจากนั้นคุณยังต้องมาพบแพทย์ปีละครั้งเป็นประจำ

หลังจากการผ่าตัดเพื่อลดน้ำหนัก คุณต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ต้องลดปริมาณอาหารลงจากที่เคยปฏิบัติมาก่อนการผ่าตัด ทีมผู้เชี่ยวชาญของเราจะแนะแนวทางเกี่ยวกับการบริโภคอาหารที่เข้มงวดให้คุณปฏิบัติ 2-3 สัปดาห์หลังจากผ่าตัดเสร็จ ในระยะแรก คุณควรต้องดื่มเครื่องดื่ม เช่น น้ำผลไม้ไม่ใส่น้ำตาล ชา กาแฟ หรือซุปใส หรือเครื่องดื่มที่ช่วยฟื้นฟูร่างกาย จากนั้นคุณจะเริ่มรับประทานอาหารอ่อนๆ ทั่วไป เช่น ไข่คน พาสต้า โยเกิร์ต และอื่นๆ ก่อนที่จะค่อยๆ เพิ่มอาหารที่แข็งขึ้นได้ ที่สำคัญคือ คุณควรต้องรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพและมีความสมดุลทางโภชนาการ
ร่างกายของคุณอาจจะไม่สามารถดูดซึมวิตามินและแร่ธาตุได้เหมือนกับตอนก่อนผ่าตัด จึงต้องได้รับวิตามินเสริมตามที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ และจะต้องมีการติดตามผลอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตโดยการตรวจเลือดเพื่อหาระดับธาตุเหล็ก แคลเซียม ทองแดง สังกะสี วิตามินดีและวิตามินบี 12

อย่าลืมว่า การผ่าตัดไม่ใช่ทางออกเดียวสำหรับการลดน้ำหนัก แต่ต้องปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมด้วย คุณพึงตระหนักว่าคุณต้องติดตามผลอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตหลังจากการผ่าตัดลดน้ำหนัก การเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มสนับสนุนจะมีประโยชน์ช่วยคุณได้ในเรื่องนี้

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?