โรค(ที่เกิดจากความ)ร่าเริง

โรค(ที่เกิดจากความ)ร่าเริง

HIGHLIGHTS:

  • อาการง่วงเหงาหาวนอนตลอดทั้งวัน อาจไม่ได้เกิดจากการนอนไม่พอ แต่อาจจะบ่งบอกว่า “โรคร่าเริง” กำลังมาเยือน
  • “โรคร่าเริง” ทำให้อ้วนง่ายขึ้น เพราะโกรทฮอร์โมนหดหาย ??

คาร์โบรไฮเดรตมากเกินไป นอกจากจะทำให้น้ำหนักขึ้นแล้วยังมีผลให้เกิดการง่วงนอนในช่วงกลางวันได้ ??

แค่ชื่อโรคก็ทำเอาหลายคนถึงกับต้องขมวดคิ้ว ในทางการแพทย์จริงๆ แล้ว ‘โรคร่าเริง’ ไม่เคยปรากฏมาก่อน ไม่ได้มีเขียนไว้ในตำรา และไม่มีชื่อโดยตรงเพราะเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมของคน สืบเนื่องจากพฤติกรรมที่ทำเป็นประจำจนนำไปสู่โรคบางอย่างได้

เพราะเทคโนโลยีที่รวดเร็ว ทำให้ชีวิตต้องปรับไปตามยุคสมัย ผู้คนส่วนใหญ่เปลี่ยนพฤติกรรมไปทำงานในเวลากลางคืน เนื่องจากเป็นเวลาที่ค่อนข้างเงียบสงบ เหมาะกับการใช้ความคิด บางคนก็เลือกใช้ช่วงค่ำคืนท่องโลกโซเซียล จนล่วงเลยเวลาเข้านอน ส่งผลให้มีอาการง่วงเหงาหาวนอนตลอดทั้งวัน ถือเป็นการใช้วงจรชีวิตผิดเวลาอย่างยิ่ง เพราะร่างกายของคนเรามีการหลั่งฮอร์โมนตามนาฬิกาชีวิต เมื่อถึงเวลานอนอวัยวะบางส่วนยังคงทำงานเพื่อหลั่งฮอร์โมนฟื้นฟูร่างกายและชาร์จพลังเตรียมพร้อมรับมือกับวันต่อไป แต่หากเราใช้ช่วงเวลาวงจรชีวิตผิดปกติ ก็จะทำให้ฮอร์โมนผิดเพี้ยนไปด้วย พฤติกรรมการดำเนินชีวิตแบบกลางวันไม่อยากตื่น กลางคืนไม่อยากหลับ กลายเป็นภัยใกล้ตัวอย่างคาดไม่ถึง ส่งให้สุขภาพเสื่อมโทรมโดยไม่รู้ตัว

ชีวิตผิดเพี้ยนของมนุษย์ร่าเริง

  • เกลียดการตื่นเช้า ง่วงเหงาหาวนอนตลอดวัน เมื่อกลางคืนไม่ได้นอน หรือนอนไม่เพียงพอ ก็จะตื่นเช้าไม่ค่อยไหว รวมถึงฮอร์โมนที่ควรจะหลั่งในช่วงหลับก็หลั่งได้ไม่เต็มที่ ทำให้เกิดอาการนอนหลับไม่สนิท เมื่อตื่นจึงรู้สึกง่วงเหงาหาวนอนตลอดวัน จนกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำงาน
  • กลายเป็นคนติดกาแฟ เมื่อรู้สึกง่วงในตอนกลางวัน มนุษย์ร่าเริงก็จะหันไปพึ่งกาแฟ เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัว ในที่สุดก็กลายเป็นคนเสพติดกาแฟอย่างมาก
  • การทำงานของลำไส้ผิดเพี้ยน นาฬิกาชีวิตช่วงเช้าคือการทำงานของลำไส้ แต่หากเราใช้เวลาผิดเพี้ยนไป ไม่มีการตื่นขึ้นมาขับถ่ายและรับประทานอาหารในเวลาที่เหมาะสม ส่งผลให้เกิดอาการท้องผูก และมีปัญหาการขับถ่ายได้ในที่สุด
  • โกรทฮอร์โมนหดหาย ช่วง 4 ทุ่ม –ตี 2 เป็นเวลาที่โกรทฮอร์โมนหลั่งออกมาในขณะที่เราหลับ เพื่อฟื้นฟูร่างกายและช่วยซ่อมแซมเซลล์ ทำให้ร่างกายแข็งแรง และช่วยควบคุมความเครียด แต่มนุษย์ร่าเริงกลับอดหลับอดนอนในช่วงเวลาที่โกรทฮอร์โมนจะต้องทำงาน ทำให้ผิวพรรณไม่สดใส การเผาผลาญน้อยลง ส่งผลให้อยากรับประทานของหวานเพิ่มมากขึ้น ทำให้อ้วนง่ายขึ้นตามไปด้วย
  • ส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว หากยังใช้ชีวิตแบบมนุษย์ร่าเริงต่อไปเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมา เนื่องจากความสมดุลของฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้เกิดปัญหาประจำเดือนผิดปกติ การเผาผลาญอาหารลดลง ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่ม รวมไปถึงเกิดโรคกลุ่มการเผาผลาญอาหาร (Metabolic Disorders) เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต

เปลี่ยนพฤติกรรม ปรับชีวิตให้เริงร่าอย่างแท้จริง

  • ปรับเวลานอนให้เป็นปกติ ควรเข้านอนตั้งแต่ไม่เกิน 4 ทุ่มหรืออย่างช้าสุด ไม่ควรเกินเที่ยงคืน เพื่อให้โกรทฮอร์โมนหลั่งได้เต็มที่ในช่วงเวลา 22.00-02.00 น.
  • ออกกำลังกายเพิ่มการตื่นตัว การออกกำลังกายเป็นการกระตุ้นการทำงานของโกรทฮอร์โมนและสร้างสมดุลให้กับฮอร์โมนตัวอื่นๆ การออกกำลังกายช่วงเช้า ช่วยให้ร่างกายสดชื่นและมีพลังตลอดทั้งวัน
  • ปรับการกิน เพิ่มโปรตีนและลดแป้ง การได้รับคาร์โบรไฮเดรตในปริมาณที่มากเกินไป นอกจากจะทำให้น้ำหนักขึ้นแล้วยังมีผลให้เกิดการง่วงนอนในช่วงกลางวันได้ ลองหันมาเพิ่มปริมาณเนื้อสัตว์ เต้าหู้ และธัญพืชให้มากขึ้น เนื่องจากโปรตีนส่งผลให้ร่างกายกระฉับกระเฉงไม่อ่อนเพลีย สำหรับคนที่มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ อาจหันมารับประทานแป้งในมื้อเย็นจะช่วยทำให้หลับสบายขึ้น แต่ในกลุ่มคนที่มีปัญหาเรื่องน้ำหนัก อาจต้องเลี่ยงเป็นการรับประทานอาหารประเภทไฟเบอร์แทน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นปริมาณสารอาหารทั้งหมดควรสมดุลเหมาะสมกับร่างกายแต่ละคนด้วย การทำการวัดปริมาณสัดส่วนมวลต่างๆในร่างกายและปรึกษาแพทย์ก็จะช่วยแนะแนวทางการปฏิบัติตัวเหมาะสมมากขึ้น
  • เติมวิตามินปรับสมดุลฮอร์โมน หากใช้ชีวิตแบบมนุษย์ร่าเริงมานาน การปรับตารางชีวิตใหม่ทันทีคงเป็นเรื่องยาก ดังนั้นควรลองปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจดูสมดุลฮอร์โมนและภาวะขาดวิตามิน เมื่อได้รับคำปรึกษาและวิตามินจากแพทย์ ก็จะสามารถกลับมามีวงจรชีวิตตามปกติได้
  • สร้างสุขนิสัยและวินัย ด้วยหลัก 8 อ. ห่างไกลโรคร่าเริงในระยะยาว
    1. อาหาร เลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อให้ร่างกายได้รับพลังงานอย่างเต็มที่
    2. ออกกำลังกาย ช่วยให้ร่างกายตื่นตัว สดชื่นและกระฉับกระเฉง
    3. ออกซิเจน ฝึกหายใจเข้า-ออกช้าๆ สูดออกซิเจนเข้าปอดให้เต็มที่ ช่วยสร้างสมดุลให้ร่างกายและคลายเคลียดได้ดี
    4. เอนกาย จัดสุขลักษณะที่ดีให้เหมาะสมกับการนอน รวมถึงเลือกรับประทานมื้อเย็นด้วยอาหารไม่หนักมากเกินไป และฝึกเข้านอนไม่เที่ยงคืนทุกวัน
      อารมณ์ ทำจิตใจให้แจ่มใส่ ปลอดโปร่ง และไม่เครียด
    5. เอาพิษออก รับประทานอาหารเช้าทุกวัน เพื่อการขับถ่ายที่เป็นเวลา เอาสารพิษออกจากร่างกาย
      อาชีพ หลายอาชีพที่ทำให้นาฬิกาชีวิตต้องเปลี่ยนไป หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรหาเวลาพักผ่อนและดูแลสุขภาพ แทนการเอาเวลาที่เหลือไปอยู่หน้าจอ แต่ถ้าทำงานช่วงกลางวันปกติได้ ก็ได้ควรปรับเวลาชีวิติให้เป็นปกติ ไม่โหลดงานไว้ทำช่วงกลางคืนมากเกินไป เพื่อสุขภาพที่ดี
    6. อิทธิบาท 4 คุณธรรมนำชีวิตสู่ความสำเร็จ 4 ประการ ฉันทะ (ความพอใจ) วิริยะ (ความเพียร) จิตตะ (ความคิด) วิมังสา (ความไตร่ตรอง หรือ ทดลอง) เริ่มด้วยมีใจอยากดูแลตัวเอง มีความเพียรที่จะกระทำ โดยการหาความรู้ และนำมาปฏิบัติดูแลตัวเอง เพื่อสุขภาพที่ดี กลับมามีชีวิตที่ร่าเริงอย่างแท้จริงตลอดไป
คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?