Burnout Syndrome ภาวะหมดไฟในการทำงาน

Burnout Syndrome ภาวะหมดไฟในการทำงาน

HIGHLIGHTS:

  • Burnout Syndrome ไม่ใช่โรคซึมเศร้า แต่เป็นอาการหดหู่ รู้สึกเครียด และไม่มีแรงจูงใจในการทำงาน
  • ปัจจัยของงานคือ ปัจจัยหลักในการสร้างความเครียดสะสมภายใน แต่สิ่งที่ทำให้เราหมดไฟได้ง่ายคือ การตั้งรับปัญหาและมุมมองต่อสิ่งที่เข้ามาจากงานนั้นๆ
  • ความสมดุลในชีวิต เราสร้างได้เพียงแต่ต้องหาทางออกให้เจอหรือปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีประสบการณ์ในเรื่องเหล่านี้

เมื่อใครสักคนมีท่าทางหดหู่ ปลีกตัว หรือนิ่งเฉย เรามักนึกถึงโรคซึมเศร้าเป็นอันดับแรก คงมีไม่กี่คนจะคิดว่าใครคนนั้น อาจเป็นเพียงภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout Syndrome) ซึ่งไม่ใช่โรคซึมเศร้า เขาเพียงแต่รู้สึกเหนื่อยล้าจากการทำงาน ไม่มีใจ หมดแรง และหมดไฟที่จะทำงานต่อไป

อาการของผู้มีภาวะหมดไฟในการทำงาน

ปัจจุบันยังไม่มีการจำกัดอาการหรือระบุแน่ชัดถึงอาการ เนื่องจากผู้อยู่ในภาวะหมดไฟในการทำงานส่วนใหญ่ มีอาการคล้ายเป็นโรคซึมเศร้า เช่น มีความหดหู่ รู้สึกเครียด และไม่มีแรงจูงใจในการทำงาน ในบางรายอาจมีอารมณ์ก้าวร้าว หรือหงุดหงิดเมื่อทำงานไม่ได้ดังใจอย่างเห็นได้ชัด

อย่างไรก็ตามผู้มีอาการหมดไฟในการทำงานอาจมีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าได้มากกว่าปกติ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องป่วยเป็นโรคซึมเศร้าเสมอไป

สาเหตุและความเสี่ยง

ผู้มีภาวะหมดไฟในการทำงาน มีตัวกระตุ้นหรือปัจจัยเสี่ยงเกิดภาวะหมดไฟในการทำงาน แบ่งเป็น 3 สิ่งเกี่ยวข้องดังนี้

1. ปัจจัยเกี่ยวกับการทำงาน

  • มีความรับผิดชอบในงานสูงมากเกินไป โดยอาจมีผลเสียมากมายรออยู่ หากงานไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้เกิดความวิตกกังวล
  • อยู่ในสิ่งแวดล้อม รวมถึงการงานที่ทำมีความกดดันและความเครียดอยู่ตลอดเวลา
  • ฝืนใจทำงานที่ตนเองไม่ถนัด ไม่ได้อยากทำ หรือไม่มีความรักในงานนั้นๆ
  • ทำงานด้วยความเบื่อหน่าย อาจด้วยตัวงานเองหรือมาจากเพื่อนร่วมงาน
  • ถูกละเลย ไม่ได้รับการยอมรับ หรือได้รับค่าตอบแทนน้อยเกินไป
  • ต้องทำงานที่มีปริมาณมาก งานหนักเกินไป รวมถึงขาดแคลนเครื่องอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์จำเป็นในการทำงาน
  • องค์กรไม่มีความชัดเจน หรือขาดความมั่นคง
  • ระยะเวลาในการทำงานนานเกินไป เช่น มากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน

2. ปัจจัยเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่

  • ทำงานหนักเกินไป กระทั่งไม่มีเวลาพักผ่อน
  • เป็นหัวหน้าครอบครัวที่ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมด หรือต้องดูแลพ่อแม่ที่สูงอายุตามลำพัง

3. ปัจจัยเกี่ยวกับบุคลิกส่วนตัว

  • เป็นคนเครียด นิยมความสมบูรณ์แบบ หรือคาดหวังในการทำงานสูงมากเกินไป
  • เก็บตัว ไม่ชอบสุงสิงกับคนในที่ทำงาน หรืออาจเป็นคนไม่ยืดหยุ่น ต้องการให้ทุกอย่างอยู่ในความควบคุมของตนเอง

ทั้งนี้ภาวะหมดไฟในการทำงานยังส่งผลถึงร่างกายด้วยเช่นกัน เช่น นอนไม่หลับ กังวลใจทุกครั้งที่ต้องไปทำงาน รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย อาจมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน รวมถึงปวดเมื่อยร่างกาย และประสิทธิภาพในการทำงานลดลง

ในบางรายอาจมีอารมณ์แปรปรวน รู้สึกสิ้นหวัง ล้มเหลวในการทำงาน หงุดหงิดจนแสดงออกด้วยการทะเลาะเบาะแว้งในที่ทำงาน หากเป็นมากขึ้นอาจปิดกั้นตนเองจากเพื่อนร่วมงาน พูดน้อยลง ขาดสมาธิและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ หรือหาทางออกโดยการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ เที่ยวเตร่ มาทำงานสาย และกลับบ้านดึก

รู้ก่อนป้องกันได้

หากสังเกตพบว่าอยู่ในข่ายภาวะหมดไฟในการทำงาน ควรเริ่มปรับสมดุลให้ชีวิตดังนี้

  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงสิ่งกระต้น เช่น บุหรี่ แอลกอฮอล์ รวมถึงการดื่มกาแฟที่มากเกินไป
  • หากมีเวลา ลาพักร้อน เพื่อห่างไกลจากงานสักพัก
  • สร้างความสมดุลให้ชีวิตและการทำงาน จัดระเบียบการทำงานให้ลุล่วงตามลำดับความสำคัญ
  • กำหนดเวลาการทำงานให้เหมาะสมในแต่ละวัน ไม่เสียเวลาจัดการงานที่ทำไม่ได้หรือติดขัดนานเกินไป จนส่งผลให้ทำงานไม่สำเร็จสักชิ้นเดียว
  • ขอความเห็น ความช่วยเหลือ แม้กระทั่งการพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานเพื่อคลายความเครียด
  • ไม่ควรนำงานกลับมาทำต่อที่บ้าน
  • หากิจกรรมผ่อนคลายทำในช่วงวันหยุด
  • ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที 5 ครั้งต่อสัปดาห์
  • ลดการสื่อสารในโลกโซเชียลลง เพราะนอกจากจะเบียดบังเวลาแล้ว การท่องโลกไซเบอร์มากๆ ส่งผลให้เกิดความเครียดจากการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่มากเกินไป

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าทุกคนจะสามารถปรับตัวในสิ่งที่เคยเป็นมาตลอดชีวิต หรือสามารถสร้างสมดุลและระเบียบให้ตัวเอง รวมถึงหลากหลายปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ หากรู้สึกว่ามีอาการรุนแรงจนส่งผลถึงร่างกายและจิตใจอย่างมากตลอดจนไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันอย่างมีความสุขได้ ควรปรึกษาและรับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ หรือพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาได้ทันท่วงที อย่ามองว่าเป็นเรื่องเล็กจนปล่อยปละละเลยเป็นเวลานาน ความเบื่อหน่ายการงานและภาวะหมดไฟในการทำงานอาจกลายเป็นภาวะซึมเศร้า ที่รักษายากและซับซ้อนขึ้นก็เป็นได้

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?