จัดห้องนอนให้ลูกน้อยอย่างไรให้ปลอดภัยและหลับดีมีสุข

จัดห้องนอนให้ลูกน้อยอย่างไรให้ปลอดภัยและหลับดีมีสุข

HIGHLIGHTS:

  • เด็กเล็กหากนอนเพียงลำพังไม่มีคนดูแล อาจเกิดอุบัติเหตุจากสิ่งแวดล้อมภายในห้อง หรืออาจถึงเสียชีวิตได้
  • ถ้าต้องการแยกห้องนอนลูก ควรแยกหลังลูกอายุ 1 ขวบไปแล้ว
  • การจัดห้องนอนให้มีสิ่งที่ลูกชอบ จะช่วยให้เด็กๆ รู้สึกตื่นเต้น และสนุกกับการได้นอนคนเดียวโดยไม่กังวล

สำหรับครอบครัวที่เพิ่งมีสมาชิกใหม่ การเตรียมบ้านให้อบอุ่นน่าอยู่สำหรับทารกน้อย เป็นหนึ่งในสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องของที่นอนและห้องนอนของหนู คุณพ่อคุณแม่ทราบหรือไม่คะ ว่าการจัดที่นอนและห้องนอนให้เจ้าตัวน้อยมีความสำคัญมากแค่ไหน สำหรับเด็กแรกเกิดและขวบปีแรก การจัดที่นอนและห้องนอนที่ไม่ปลอดภัย อาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้เลยนะคะ

การจัดที่นอนให้เด็กวัยทารก

จากสถิติทั่วโลก พบว่าเด็กทารกในช่วงอายุ 6 เดือนแรกนั้น มีอัตราตายที่เกี่ยวข้องกับการนอนสูงทีเดียว ตัวอย่างเช่นในอเมริกา มีเด็กทารกเสียชีวิตจากเหตุที่เกี่ยวข้องกับการนอนถึง 3500 คนต่อปี สาเหตุนั้นประกอบไปด้วย การเสียชีวิตกะทันหัน (sudden infant death syndrome (SIDS)), การเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ หรือโดนรัดคอจากสิ่งของที่อยู่บนเตียงเป็นต้น

เพื่อจะป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตที่น่าเศร้าเช่นนี้กับเจ้าตัวน้อย หมอจึงอยากจะแนะนำเคล็ดลับการนอนและที่นอนที่เหมาะสมสำหรับเด็กทารกให้คุณพ่อคุณแม่ทราบ

  • อันดับแรก ท่านอน เด็กทารกในขวบปีแรก เมื่อถึงเวลานอน ห้ามจัดท่าให้นอนคว่ำโดยเด็ดขาด ควรให้เจ้าตัวน้อยนอนหงายเท่านั้น ตาม concept “Back to sleep” ที่แนะนำกันมานาน
  • อันดับที่สอง ที่นอน ต้องเป็นฟูกที่แข็งซักหน่อย ไม่อ่อนยวบยาบ ผ้าปูฟูกต้องเรียบตึง ไม่หลุดง่าย จะได้ไม่มาคลุมหน้าน้องจนปิดจมูก และไม่ควรมีของเล่นหรือหมอนหรือสิ่งอื่นๆอยู่บนฟูก และที่ห้ามเด็ดขาดคือ ให้เด็กนอนหลับบนเก้าอี้หรือโซฟามีพนักพิงที่มีลักษณะอ่อนนุ่ม เพราะเด็กอาจเข้าไปติดอยู่ในช่องระหว่างพนักพิงกับที่นั่งได้
  • อันดับสาม ที่นอนเด็กควรจะแยกต่างหากจากเตียงของผู้ใหญ่ แต่ควรจะอยู่ในห้องเดียวกัน อย่างน้อยจนถึงอายุ 6 เดือนถึง 1ปี แล้วค่อยพิจารณาแยกห้องนอน
  • อันดับที่สี่ แม้ว่าจะเหนื่อยแค่ไหน ก็อย่าปล่อยให้เด็กนอนหลับไปกับผู้ใหญ่ โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่หรือผู้เลี้ยงดูเด็กที่เหนื่อยล้า เนื่องจากมีอุบัติเหตุจากการที่ผู้ใหญ่หลับลึกและนอนทับเด็กเสียชีวิตอยู่บ่อยๆ

นอกจากเรื่องที่นอนแล้ว จากการศึกษาพบว่า “การให้นมแม่” ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิด SIDS ในขณะที่ “การสูบบุหรี่” “การดื่มแอลกอฮอล์” และ “การใช้สารเสพติด” ของคนในบ้านเพิ่มความเสี่ยงของ SIDS ได้

การเตรียมตัวแยกห้องนอนให้ลูก

หลังจากพ้นวัยทารกในขวบปีแรกมาแล้ว คุณพ่อคุณแม่คงเริ่มมีคำถามว่า แล้วเราควรจะเริ่มหัดแยกห้องนอนให้เจ้าตัวน้อยเมื่อไหร่ดี เวลาที่เหมาะสมในการแยกห้องนอนของเจ้าตัวน้อยนั้นยังไม่มีคำแนะนำที่ชัดเจน เนื่องจากขึ้นกับวัฒนธรรม การใช้ชีวิตที่ต่างกันในแต่ละเชื้อชาติและสังคมด้วย แต่จากคำแนะนำ ของ American Academy of Pediatrics นั้น แนะนำให้อย่างน้อย ต้องรอถึงหลังขวบปีแรก เพื่อความปลอดภัยของเด็ก แต่ก็ไม่ใช่ว่า เด็กอายุ 1 ขวบทุกคน ควรต้องแยกห้องนอนแล้ว เพราะเวลาที่เหมาะสมนั้น ขึ้นกับความพร้อมของพ่อแม่ ความพร้อมของเจ้าตัวน้อย และความสะดวกของแต่ละบ้านด้วย ว่ามีพื้นที่เพียงพอสำหรับห้องส่วนตัวของเด็กหรือไม่

ถ้าเป็นไปได้ การแยกห้องนอนให้ได้ก่อนเด็กจะเข้าสู่วัยเรียนก็น่าจะดีกว่า เนื่องจากข้อเสียของการนอนรวมกับพ่อแม่ในห้องเดียวกันและโดยเฉพาะบนเตียงเดียวกันนั้น คือทั้งเด็กและผู้ใหญ่อาจจะหลับได้ไม่สนิท ส่งผลให้พักผ่อนไม่เพียงพอ มีผลต่อประสิทธิภาพและสมาธิในการเรียนของเด็ก ประสิทธิภาพการทำงานและสุขภาพจิตของพ่อแม่ และยังขาดความเป็นส่วนตัวของคู่ชีวิตของพ่อแม่ด้วย

เทคนิคการแยกห้องนอนให้ลูก

ที่อาจช่วยให้แยกได้อย่างราบรื่นมีหลายวิธี เช่น

  1. เตรียมตัวให้เด็กได้รู้สึกสนุกตื่นเต้นกับห้องของตัวเอง พูดถึงข้อดี เช่น จะได้เตียงของตัวเอง ผ้าปูเตียงลายที่ชอบ เป็นต้น แต่ไม่ควรมี โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์อิเล็กโทรนิคส์ที่มีจอในห้องโดยเด็ดขาด เพราะทำให้คุณภาพการนอนไม่ดี
  2. ในช่วงแรก คุณพ่อคุณแม่อาจจะเข้าไปอยู่ด้วย อ่านนิทานหรือเล่านิทานที่มีเนื้อหาผ่อนคลาย และรอจนกว่าเด็กจะหลับ และเมื่อเด็กเริ่มชินก็ค่อยๆห่างออกมาเรื่อยๆจนเด็กสามารถหลับได้เองโดยไม่ต้องมีผู้ใหญ่อยู่ด้วย
  3. ถ้าเด็กหลับได้ยาก หรือมีความกังวลที่ต้องแยกนอนกับผู้ใหญ่ การมีตุ๊กตาตัวโปรด หมอน หรือผ้าห่มชิ้นโปรดไว้นอนกอดก็จะช่วยลดความกังวลได้

สุดท้ายแล้ว หมอขอให้คุณพ่อคุณแม่และเจ้าตัวน้อยประสบความสำเร็จในการฝึกการนอนและแยกห้องนอนอย่างราบรื่นทุกๆคนนะคะ หลับฝันดีทุกคนค่ะ : )

Reference: American academy of Paediatrics

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?