การกระตุ้นพัฒนาการเด็ก

การกระตุ้นพัฒนาการเด็ก

HIGHLIGHTS:

  • พัฒนาการเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงทักษะต่างๆ ตามวัยตลอดชีวิตโดยเฉพาะในช่วง 5 ปีแรก
  • ลักษณะของพัฒนาการที่พบได้บ่อยในเด็กที่ผิดปกติ คือเด็กที่มีปัญหาทางด้านกล้ามเนื้อ และที่มีปัญหาทางด้านภาษาและสังคม
  • การส่งเสริมพัฒนาการในช่วงวัยเด็กเล็ก จะช่วยลดความรุนแรงหรือบำบัดให้เป็นปกติได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก

พัฒนาการเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงทักษะต่างๆ ตามวัยตลอดชีวิตโดยเฉพาะในช่วง 5 ปีแรก จะมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านพัฒนาการอย่างมากและสามารถสังเกตเห็นได้อย่างเด่นชัด ซึ่งจะสอดคล้องกับการเจริญเติบโตของสมองเช่นกัน หากมีการแก้ไขปัญหาฟื้นฟูสภาพ หรือส่งเสริม พัฒนาการเด็ก ในช่วงวัยเด็กเล็ก จะช่วยลดความรุนแรงหรือบำบัดให้เป็นปกติได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก

พัฒนาการเด็ก ผิดปกติ?

สังเกตจากเด็กที่มีพัฒนาการช้ากว่าเด็กทั่วไปในช่วงอายุเดียวกันรวมถึงเด็กที่มีพัฒนาการเบี่ยงเบนไปจากปกติ (ผู้จัดทำได้นำพัฒนาการเด็กปกติตามวัยเพื่อให้ผู้ปกครองสามารถเปรียบเทียบพัฒนาการตามช่วงวัยได้ด้วยตัวเองในตารางพัฒนาการท้ายบทความ)

ลักษณะที่พบได้บ่อย

  1. เด็กที่มีปัญหาทางด้านกล้ามเนื้อตึงตัวผิดปกติ(Spastic child) มีอาการแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อและยากลำบากในการควบคุม
  2. เด็กที่มีปัญหาทางด้านกล้ามเนื้ออ่อนตัวผิดปกติ เช่น Down syndrome
  3. เด็กที่มีปัญหาทางด้านภาษาและสังคม รวมถึง กลุ่มเด็กที่มีปัญหาทางด้านอารมณ์และพฤติกรรมการแสดงออก เช่น Autistic child, Attention Deficit Hyperactivity Disability (เด็กสมาธิสั้น), Learning Disability (เด็กบกพร่องทางด้านการเรียน)

ข้อสังเกตเด็ก Autistic child

  1. มีความบกพร่องทางด้านปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ขาดการแสดงออกหรือแสวงหาที่จะร่วมสนุกกับบุคคลอื่น
  2. มีความบกพร่องทางด้านการติดต่อสื่อสาร
    • มีพัฒนาการช้าหรือไม่มีพัฒนาการทางด้านภาษาพูดเลย
    • มีการใช้ภาษาซ้ำๆ หรือใช้ภาษาแปลกๆ
    • มีการเล่นหรือเลียนแบบสังคมที่ไม่เหมาะสม
  3. มีรูปแบบซ้ำๆหรือมีข้อจำกัดของพฤติกรรม ความสนใจและการทำกิจกรรม
    • ขาดความยืดหยุ่นในกิจวัตรประจำวันต่างๆ ที่เคยทำ
    • มีพฤติกรรมการเคลื่อนไหวที่ซ้ำๆ เช่น สะบัดมือหรือนิ้ว หมุนตัว เล่นของหมุนๆ

เด็กบกพร่องทางด้านการเรียน(Learning Disability)

  1. ประสิทธิภาพด้านการเรียนต่ำ
  2. ทำคะแนนวิชาหนึ่งดีมาก แต่อีกวิชาต่ำ
  3. มีความบกพร่องทางการฟัง การคิด การพูด การอ่าน การเขียน การสะกดคำ และการคิดคำนวณ
  4. ไม่กล้าแสดงออก

เด็กสมาธิสั้น(Attention Deficit Hyperactivity Disability)

  1. บ่อยครั้งไม่ให้ความสนใจในรายละเอียดย่อยๆมักทำการบ้านงานหรือกิจกรรมต่างๆผิด
  2. ยากลำบากในการคงสมาธิในการทำงานหรือกิจกรรมต่างๆให้เสร็จ
  3. บ่อยครั้งมักทำสิ่งของต่างๆหาย
  4. มีลักษณะ Hyperactive หรือลักษณะอาการอยู่ไม่นิ่ง

เด็กกลุ่มเสี่ยงต่อพัฒนาการผิดปกติ

  • เด็กที่คลอดก่อนกำหนด
  • น้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่าปกติหรือเด็กที่มีน้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่า 2,500 กรัม ไม่ว่าครบกำหนดหรือก่อนกำหนด
  • เด็กคลอดยากและขาดออกซิเจน
  • มีภาวะแทรกซ้อนหลังคลอด เช่น ตัวเหลือง
  • มารดาติดเชื้อขณะตั้งครรภ์
  • มีประวัติพัฒนาการช้าในครอบครัว
  • เด็กมีพื้นฐานอารมณ์ชนิดเลี้ยงยาก

การรักษา

  1. การรักษาทางการแพทย์ เช่น ยา (กลุ่มเด็กสมาธิสั้น) การผ่าตัด (กลุ่มเด็กที่มีภาวะเกร็ง)
  2. กิจกรรมบำบัด
    • การกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้ง5( sensory integration)
    • การกระตุ้นพัฒนาการของกล้ามเนื้อมัดเล็กและมัดใหญ่
    • การกระตุ้นพัฒนาการภาษา
    • กระตุ้นการรับรู้ทางด้านสติปัญญาและสมาธิ
  3. กายภาพบำบัด

นักกิจกรรมบำบัด คือ?

นักกิจกรรมบำบัด ( Occupational Therapy ) เป็นวิชาชีพทางการแพทย์แขนงหนึ่งที่ประยุกต์กิจกรรมมาใช้ในการตรวจ ประเมิน วินิจฉัย ส่งเสริม ดูแลรักษา และฟื้นฟูสมรรถภาพแก่ผู้ที่มีความบกพร่องทางกาย มีพัฒนาการบกพร่อง หรือผู้ที่มีความผิดปกติทางด้านจิตใจ อารมณ์และสังคม ให้กระทำกิจกรรมต่างๆได้ด้วยตนเองอย่างเต็มกำลังความสามารถตามศักยภาพที่มีอยู่ เพื่อให้ดำรงชีวิตในสังคมสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีความสมดุลเกิดความสุขทั้งทางร่างกายและจิตใจ รวมทั้งการป้องกันคความเสื่อมถอยของสมมรถภาพอันเนื่องมาจากข้อจำกัดขององค์ประกอบใน การทำกิจกรรมต่าง  งานกิจกรรมบำบัดสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ฝ่ายคือ ฝ่ายเด็ก สูงอายุ กาย จิตสังคม

  • ฝ่ายเด็ก จะให้บริการด้านการกระตุ้น พัฒนาการเด็ก ให้เหมาะสมตามวัยที่ควรจะเป็น เช่น เด็กสมองพิการ เด็กที่มีปัญหาด้านอารมณ์ สังคม จิตใจ และพฤติกรรม เด็กพิการทางร่างกาย เด็กพิการซ้ำซ้อน เด็กที่มีการเรียนรู้ช้า เด็กดาวน์ซินโดรม มีการดัดแปลงอุปกรณ์เพื่อช่วยให้เด็กสามารถดำเนินกิจวัตรประจำวันต่อไปได้
  • ฝ่ายกาย นั้นจะเน้นการฟื้นฟู ฝึกการทำงานและฝึกทักษะของร่างกายในส่วนต่างๆ และออกแบบอุปกรณ์ให้ผู้รับบริการสามารถกลับไปดำเนินชีวิตประจำวันของตนได้ตามบทบาท ตามศักยภาพที่ตนยังคงเหลืออยู่เช่นกลุ่มผู้รับบริการที่มีปัญหาระบบโครงสร้างของร่างกายและกล้ามเนื้อ กลุ่มโรคทางระบบประสาท กลุ่มผู้รับบริการที่ได้รับบาดเจ็บที่แขนหรือมือ และในกลุ่มผู้ที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจและเมตาบอลิซึมของร่างกาย
  • ผู้สูงอายุ กิจกรรมบำบัดจะมีบทบาทในส่วนจิตใจ สังคม อารมณ์ ที่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหว การรับความรู้สึก การเรียนรู้ ความเข้าใจ ทำให้สูญเสียหน้าที่หรือยากลำบากในการดำเนินชีวิตสาเหตุมาจากโรค อุบัติเหตุ ดังนั้นจึงมุ่งเน้นการบำบัดฟื้นฟู ส่งเสริมการดำเนินชีวิตด้วยตัวเองตามความสามารถที่มีอยู่โดยการฝึกทำกิจวัตร ดัดแปลงอุปกรณ์ ปรับสภาพบ้านหรือสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม
  • จิตสังคม ผู้รับบริการที่มีปัญหาด้านจิตใจ อารมณ์และจิตสังคมเนื่องมาจากโรคหรือความผิดปกติอื่นๆ เช่น มีอารมณ์แปรปรวน โรคจิตเภท ติดสารเสพติด เครียด มีพฤติกรรมที่ผิดปกติไป นักกิจกรรมบำบัดจะรักษาและฟื้นฟูเพื่อเตรียมพร้อมให้กลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้และเหมาะสมกับบทบาทของผู้รับบริการ

บทบาทของนักกิจกรรมบำบัดในเด็ก ได้แก่

  • ประเมินคัดกรอง พัฒนาการเด็ก ทั้งด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ กล้ามเนื้อมัดเล็ก ภาษา ทักษะสังคม อารมณ์ รวมถึงความสามารถด้านกิจวัตรประจำวัน
  • จัดกิจกรรมการบำบัดเพื่อพัฒนาสมรรถภาพทางร่างกายของเด็ก เช่น การเพิ่มช่วงการเคลื่อนไหวของข้อ การเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อ การเพิ่มสหสัมพันธ์ของการทำงานของกล้ามเนื้อ การเพิ่มความสามารถในการวางแผนการเคลื่อนไหว การเพิ่มความสามารถด้านการทรงตัว การเพิ่มความสามารถในด้านการสัมผัส การเพิ่มความสามารถในด้านการรับรู้ทางภาษาการพูดสื่อสาร
  • จัดกิจกรรมการเล่นเพื่อเสริมสร้างความรู้ ความสามารถในด้านกิจวัตรประจำวันของเด็ก
  • จัดกิจกรรมการเล่นที่มีเป้าหมายในการขจัดความกลัว วิตกกังวล ประหม่า และให้พัฒนาความเชื่อมั่นในตนเองแก่เด็ก
  • จัดกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการแก่เด็กที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกาย อารมณ์ สติปัญญา ให้มีพัฒนาการใกล้เคียงกับปกติมากที่สุด
  • จัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างทักษะการปรับตัวต่อสิ่งแวดล้อม การเข้ากลุ่มสังคมของเด็ก
  • เสริมสร้างความเข้าใจ การมีเจตคติที่ดีของพ่อแม่ ผู้ปกครองเด็กเกี่ยวกับปัญหาของเด็กและพฤติกรรมที่เด็กแสดงออก

แนวคิดของการทำบทบาทและหน้าที่ของนักกิจกรรมบำบัดในเด็ก

นักกิจกรรมบำบัดพิจารณาเด็ก สิ่งแวดล้อมของเด็กและปฎิสัมพันธ์ของเด็กต่อสิ่งแวดล้อม และสิ่งแวดล้อมต่อตัวเด็ก แบบองค์รวม โดยเชื่อว่าเด็กมีการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมและมีอิทธิพลต่อสิ่งแวดล้อมที่เด็กอาศํยอยู่อย่างต่อเนื่อง ปฎิสัมพันธ์ของเด็กกับสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นมาจากพัฒนาการที่ต่อเนื่อง และการเรียนรู้ของเด็ก ส่วนสิ่งแวดล้อมเองก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของเด็ก นักกิจกรรมบำบัดจะวิเคราะห์ความสามารถของเด็กในการประกอบกิจกรรมในหลายๆสถานการณ์และสิ่งแวดล้อม เพื่อค้นหาศักยภาพของเด็ก รวมทั้งข้อจำกัดในการทำกิจกรรมที่มาจากปัจจัยต่างๆ เช่น ทักษะของเด็ก ปัจจัยภายในตัวเด็กเอง และสิ่งแวดล้อม ดังนั้นบทบาทสำคัญของนักกิจกรรมบำบัดเด็กจึงเป็นการวิเคราะห์ความสามารถในการประกอบกิจกรรม (functional performance) เพื่อแยกแยะปัจจัยต่างๆและนำไปสู่การตั้งเป้าหมายในการบำบัดรักษา

ตาราง พัฒนาการเด็ก ปกติตามช่วงวัย

  ด้านการเคลื่อนไหว ด้านการใช้มือและตา การเข้าใจภาษา การใช้ภาษา ด้านการช่วยเหลือตนเองและทักษะสังคม
2 เดือน ชันคอยกศีรษะ 45° ขณะนอนคว่ำ มองและจ้องวัตถุระยะห่าง 20 cm. ตอบสนองต่อเสียงโดยการสะดุ้งหรือเคลื่อนไหวร่างกาย ทำเสียงในลำคอ เช่น อู อา ยิ้มหรือส่งเสียงเมื่อเล่นด้วย
4 เดือน  พลิกตะแคงตัวได้  หยิบของเล่นโดยการกางนิ้วออก และกำ  หันตามเสียงพูด  เล่นเสียงริมฝีปาก เสียง  พ่นน้ำลาย ทำเสียงติดต่อ  กันซ้ำๆ  แสดงอาการดีใจ เคลื่อนไหวร่างกายเมื่อเห็นแม่หรือขวดนม
6 เดือน  นั่งได้นานและใช้มือเล่นของ  เล่นได้  เปลี่ยนมือถือวัตถุ  สนใจฟังคนพูดและมองของเล่น  นาน 1 นาที  ออกเสียงสองพยางค์ซ้ำๆ  จ้องมองหรือร้องไห้เมื่อเห็น คนแปลกหน้า
9 เดือน  เกาะเดินไปด้านข้าง  มองตามของเล่นที่ตก    พื้น  หันตามเสียงเรียกชื่อ  รู้จักปฏิเสธโดยแสดงท่าทาง  ใช้มือหยิบอาหารกินเองได้
12 เดือน  เดินไปข้างหน้าโดยช่วยจูงมือ  ทั้งสองข้างได้ 2 เมตร  หยิบวัตถุใส่ในถ้วยเล็กๆ  ได้  รู้จักสมาชิกในบ้านเมื่อเอ่ยชื่อ  เลียนแบบการกระทำโดย  ใช้ส่วนของใบหน้าได้ 1  อย่าง  กัด เคี้ยวและกลืนได้
18 เดือน  เดินเองได้คล่อง  หยิบเชือกโดยใช้หัวแม่  มือและนิ้วชี้  ชี้อวัยวะของร่างกายได้  1 ส่วน  พูดเป็นคำๆ ได้ 4-6 คำ  เลียนแบบการทำงานบ้านเช่น  กวาดบ้าน  เก็บของเล่น
2 ปี   วิ่งได้คล่อง  เลียนแบบต่อก้อนไม้  เป็นรถไฟ  ชี้อวัยวะของร่างกายได้  4 ส่วน  ใช้คำกิริยาได้ 2 คำ เช่น  นั่ง นอน  พูดบอกหรือแสดงท่าทาง  บอกเมื่อต้องการขับถ่าย
3 ปี   เดินบนเส้นตรงกว้าง 5 cm.  ได้ 3 เมตร  เลียนแบบวาดรูป    วงกลม  เลือกวัตถุขนาดใหญ่  พูดตอบรับหรือปฏิเสธ  ถอดกระดุมขนาดใหญ่ 2 cm.  ได้ 3 เม็ด
4 ปี  กระโดดขาเดียวได้ 2-3 ครั้ง  วาดรูปคนที่มีส่วนของ  ร่างกายได้ 3 ส่วน  วางวัตถุไว้ หน้าหลัง บน ใต้ ตาม  คำสั่งได้  บอกชื่อจริงและนามสกุล  ได้  ล้างหน้า ล้างมือได้เอง
5 ปี  รับบอลขนาด 15 cm.    ระยะห่าง 2 m. ได้ วาดรูปง่ายๆ มีส่วนประกอบของรูป 4 ส่วน ชี้บอกอวัยวะของร่างกายได้ 19ส่วน ตอบคำถามเกี่ยวกับหน้าที่ของอวัยวะได้ บอกที่อยู่ของตน (ถนนและตำบล)

***ข้อมูลจากสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์***

**ผู้ปกครองสามารถเปรียบเทียบความสามารถพัฒนาการของเด็กตามช่วงอายุจากตารางเบื้องต้น ด้วยตนเอง หากต้องการตรวจประเมินพัฒนาการเพิ่มเติมอย่างละเอียดหรือมีข้อสงสัยต้องการปรึกษาปัญหาพัฒนาการแต่ละด้าน รวมถึงปัญหาด้านพฤติกรรม อารมณ์ สามารถติดต่อปรึกษาเพิ่มเติมกับนักกิจกรรมบำบัด ได้ที่ แผนกเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลสมิติเวชศรีราชา โทร 038-320344 , 038-320300

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?